วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

DIY ตอน 8 เปลี่ยนมอเตอร์กระจกไฟฟ้า แลนเซอร์ อีคาร์

แลนเซอร์ อีคาร์ ปี 93 เริ่มทยอยเสียทีละอย่างสองอย่างแล้วครับ แต่ยังรักมันอยู่จึงต้องซ่อมกันต่อไป ในวันนี้ขอนำเสนอการเปลี่ยนมอเตอร์กระจกไฟฟ้า พร้อมทั้งสวิทช์ซึ่งเป็นจุดอ่อนของ Lancer e-car รุ่นนี้เป็นอย่างยิ่ง (ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต) สำหรับคันนี้ เคยมีปัญหาเสียสะสมมาจนครบทุกบานหน้าต่างแล้ว จึงมาซ่อมพร้อมกันทีเดียวเสียเลย มีสวิทช์ชุดเล็กเสีย ด้านซ้าย 2 ชุด สวิทช์เซ็นเตอร์ด้านคนขับเสีย (เสีย 2 ตัวย่อย ต้องเปลี่ยนทั้งชุด) ชุดมอเตอร์เสียด้านขวาทั้งหน้าและหลัง

วิธีการตรวจสอบว่าสวิทช์หรือมอเตอร์เสียนั้น ให้ใช้วิธีสลับสวิทช์ โดยต้องมีสวิทช์ที่ดี 1 ตัวสำหรับสลับเปลี่ยน ถ้ายังเลื่อนกระจกขึ้นลงได้ แสดงว่ามอเตอร์ดี สวิทช์เก่าเสีย ในทางกลับกันถ้าเลื่อนกระจกไม่ได้แสดงว่ามอเตอร์เสีย

วิธีการเปลี่ยนสวิทช์ตัวเล็ก

  • ใช้ไขควงปากแบน งัดเอาสวิทช์ขึ้นมาเบา ๆ สวิทช์ตัวเล็กเขาล็อกด้วยคุณสมบัติของพลาสติกที่ให้ตัวได้ ไม่ได้ขันด้วยน็อต สกรูแต่อย่างใด
  • การถอดเปลี่ยนสายไฟ ให้ใช้ไขควงปากแบนกดที่ร่องสลักลงไป แล้วดึงขั้วสายไฟออกมา ถ้าไม่ใช้ไขควงปากแบนกดที่ร่อง แต่ใช้แรงดึงออกมาอย่างเดียวจะทำให้ขั้วยึดสายไฟชำรุดได้
  • ใส่สวิทช์ตัวใหม่เข้าไป ให้ทดลองผลการทำงานดูก่อนว่าใช้ได้หรือไม่ ก่อนที่จะติดตั้งลงในตำแหน่งเดิม
ขั้นตอนวิธีการถอดมอเตอร์กระจกไฟฟ้า
  • ถอดแผ่นครอบชุดมอเตอร์ ด้วยการขันสกรูเกลียวปล่อย ด้านปุ่มล็อก



  • ถอดสกรูเกลียวปล่อยด้านหน้า



  • ถอดสกรูมือจับ ปิด-เปิด



  • ถอดสกรูเกลียวปล่อย ชุดดึงสลักกลอนเพื่อเปิด



  • ดึงแผ่นครอบชุดมอเตอร์ออก โดยแกะชุดล็อกออกเบา ๆ โดยการใช้ไขควงปากแบนแงะออกเบา ๆ การล็อกฝานี้ใช้ดุมพลาสติกตัวผู้ตัวเมีย สุดท้ายให้ยกขึ้นเพื่อให้ออกจากปุ่มล็อกปิด-เปิดด้านบน
  • ถอดชุดสายไฟออกจากขั้วสวิทช์ชุดใหญ่ ด้วยวิธีเดียวกับสวิทช์ชุดเล็ก หลังจากนั้นให้ถอดเอาสวิทช์อันนี้ ออกจากที่ยึด ด้วยการถอดน็อตที่ล็อกด้านหน้า (มีลักษณะเป็นสเตนเลสสปริง)


  • ถอดแผ่นพลาสติกบาง ๆ กันฝุ่นออก แผ่นนี้มีความสำคัญ ถ้าฉีกขาดจะให้มีเสียงเข้ามาในรถมาก หรือมีกลิ่นรั่วเข้ามาได้ แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ด้วย ดังรูป



  • ถอดน็อตยึดมอเตอร์ 3 ตัว กับตัวยึดรางเลื่อนหน้าต่างที่มีน็อต 4 ตัว ด้วยประแจเบอร์ 10 ดังลูกศร โดยดึงกระจกให้ออกจากรางที่วางกระจกลงด้านล่าง


  • ค่อย ๆ นำเอามอเตอร์และรางเลื่อนกระจกออกจากช่องออกมา รางเลื่อนและมอเตอร์มีรูปร่างดังภาพด้านล่าง


  • นำเอาของใหม่มาประกอบกลับ เข้าไปใหม่ ด้วยการทำย้อนกลับกับการถอด
ข้อเสนอแนะในการซื้ออะไหล่
  • สวิทช์ชุดเล็กทั้ง 3 อันเหมือนกันหมด สลับกันได้ แต่ชุดมอเตอร์ทั้ง 4 ด้านมีโครงร่างไม่เหมือนกัน ดังนั้น ควรเอาตัวอย่างไปเปรียบเทียบ ป้องกันร้านอะไหล่ขายมั่วให้ของผิดด้านมาจะทำให้เสียเวลา ซึ่งจริงๆแล้ว จะมีภาษาอังกฤษเขียนกำกับเอาไว้ เช่่น ด้าน หน้าขวา จะมีอักษร F และ R นั้นคือ F = Front คือด้านหน้า R = Right คือ ด้านขวา ในการซ่อมครั้งนี้ร้านเขาให้มาผิด ต้องเสียเวลากลับไปเปลี่ยนอันใหม่
  • หลายคนนิยมซื้อของมือสองจากญี่ปุ่น แต่ถ้าอยู่ที่ จ. สงขลาจะใช้ของมาเลย์ เพราะรุ่นนี้อะไหล่เหมือนกับรถ Proton ทุกอย่าง ราคาจึงถูกกว่า เช่น สวิทช์ด้านคนขับของใหม่ราคา 850 บาท ถ้าใช้ของเมืองไทย ในเว็บบอกราคา 4,500 บาท แต่คนละยี่ห้อกันนะครับ ของมาเลย์สวิทช์จะแข็งกว่า ไม่แน่ใจว่าจะทนทานเพียงใด แต่ของเดิมจะเป็นยี่ห้อ Omron รูปของสวิทช์ที่ผลิตในมาเลย์ ดังภาพด้านล่าง



  • พูดถึงอะไหล่มาเลเซีย มีอีกอย่างหนึ่งคือหลังคา ที่รถรุ่นนี้ต้องเปลี่ยนทุกคัน เพราะผุจากกาวอีป็อกซี่ ผมใช้บริการของรถ Proton ราคาประมาณ 4,000 บาท ในขณะที่ลองติดต่อศูนย์มิตซูบิชิประเทศไทย เขาใจดียินดีลดราคาให้ 25 % เหลือ 7,500 บาท เขาว่าต้องซื้อคานเหล็กอีก 2 อันด้วย รวมแล้วเกือบหมื่นบาท ไม่เอาดีกว่า
  • ในการซ่อมครั้งนี้ สามารถเปลี่ยนเฉพาะมอเตอร์อย่างเดียวก็ได้ เพราะมีชุดหนึ่งที่สายสลิงขาดบางเส้น มอเตอร์ยังใช้ได้ นำไปเปลี่ยนกับรางที่มอเตอร์เสีย ทำให้ประหยัดเงินได้ ทำให้การซ่อมครั้งนี้ หมดเงินไปเพียง 2,000 บาท สวิทช์ชุดใหญ่ 850 บาท สวิทช์ชุดเล็กตัวละ 150 บาท 3 ตัว มอเตอร์และรางราคา 700 บาท
การบำรุงรักษา
  • การบำรุงรักษากระจกไฟฟ้า มีคนเข้าใจผิด คิดว่าถ้าไม่ใช้เลยจะทำให้ทนทานกว่า นั้นไม่จริง เพราะว่ามอเตอร์และสลิงจะเกิดสนิม ฝืดและเมื่อใช้ทำให้ขึ้นลงลำบาก มีโหลดหนักจึงทำให้สวิทช์มีกระแสสูง หน้าสัมผัสทองแดงจะทนกระแสสูงไม่ได้ ทำให้ชำรุดในที่สุด
  • มอเตอร์ก็เช่นเดียวกัน จารบีหรือสิ่งหล่อลื่นเสื่อมสภาพ ขี้ฝุ่นเกาะเกิดสนิมที่แกนและบุชของมอเตอร์ทำให้ไม่หมุนได้
  • ถ้ามีเวลาและรักงานซ่อมจริงๆ แนะนำให้ถอดออกมาดังวิธีเดียวกันนี้ แล้วมาทาด้วยจารบีทุก ๆ 3 ปี น่าจะทำให้กระจกขึ้นลงอย่างราบรื่นดีกว่า
  • ถ้ารถยนต์ถูกน้ำท่วม แนะนำให้ถอดมาบำรุงรักษาก่อนใช้งานครับ
สุดท้ายขอฝากข้อคิดเตือนใจ มายังผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่าน โปรดให้ความเคารพกฏจราจรอย่างเคร่งครัด อย่าขับรถเร็วเกิน 90 กม./ชม. เพราะเมื่อพลาดพลั้งขึ้นมามันไม่สามารถกลับมาแก้ตัวใหม่ได้อีกต่อไป ขอให้โชคดีครับ

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอน 7 การเปลี่ยนหลอดไฟเลี้ยว แลนเซอร์ อีคาร์


D.I.Y. วันนี้ ขอนำเสนอตอน การเปลี่ยนหลอดไฟเลี้ยวด้วยตนเอง

อาการที่บอกว่าหลอดไฟเลี้ยวเสียเมื่อไร จะรู้ได้อย่างไรนั้นมีวิธีสังเกตุได้ง่ายคือ การกระพริบที่เร็วกว่าด้านที่ไม่เสีย ถ้าเกิดอาการดังกล่าวให้รีบซ่อมทันที อย่าเพิ่งนำรถไปใช้ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจากการเข้าใจผิดของรถคันอื่นได้

วิธีการเปลี่ยนไม่ยากสำหรับรถรุ่นนี้ เพราะโคมไฟเลี้ยวกับโคมไฟส่องสว่างด้านหน้า ดวงใหญ่ แยกชิ้นกัน ยกเว้นไฟหลังยังไม่ได้ทดลองเปลี่ยนเอง

วิธีตามรูป

ขั้นที่ 1 เมื่อเปิดฝากระโปรงขึ้นแล้ว ให้สังเกตุบริเวณด้านหลังของโคมไฟเลี้ยว จะมีลวดลักษณะโค้งคอยล็อกยึดโคมไฟนี้เอาไว้ ให้ดึงออกมาเพื่อปลดล็อก

ขั้นที่ 2 ใช้มือดึงโคมไฟออกมาทางด้านหน้า ให้สังเกตุดูมีร่องสำหรับใส่กลับให้ตรงร่องทั้งสองด้านด้วย

ขั้นที่ 3 ถอดหลอดไฟเก่าออกโดยการหมุนบิดเบา ๆ และนำหลอดใหม่ใส่กลับไปตามเดิม สามารถสลับขั้วได้โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ นำลวดสปริงดึงกลับไปล็อกที่ตำแหน่งเดิม ทดสอบบิดกุญแจเปิดไฟเลี้ยวดูว่าหลอดไฟติดหรือไม่

ส่วนภาพหมายเลข 4 เป็นวิธีการสาธิตการถอดฝาครอบไฟเลี้ยวด้านข้าง ให้ใช้ไขควงปากแบนพันผ้าหรือกระดาษ งัดเอาออกมาเบา ๆ แล้วเปลี่ยนหลอดไฟได้เลย วิธีการถอดฝาครอบไฟภายในตัวคาร์ก็ใช้วิธีเดียวกัน

ทดลองทำดูนะครับ เพื่อความรู้และความเพลิดเพลินสำหรับคนที่รักรถ

สุดท้ายนี้ ขอให้ชาว DIY ทุกท่านปลอดภัยจากการใช้ท้องถนนนะครับ มีน้ำใจให้เพื่อนร่วมทาง เอาใจเขามาใส่ใจเรา บ้านเมืองจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะครับ


วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอน 6 กันขโมยรถยนต์แบบฉุกเฉิน

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสำหรับกันขโมยในรถยนต์มีหลากหลายแบบ ซึ่งล่าสุดมีเครื่อง GPS Tracker ราคาไม่แพงขายโดยทั่วไป มีทั้งแบบไปซื้อชุดมาติดตั้งเอง สำหรับคนที่มีความรู้ทางเทคนิคอยู่บ้างสามารถนำมาติดตั้งด้วยตัวเองได้ ผมทดลองค้นหาใน google เห็นมีขายราคาไม่ถึง 3,000 บาท กับอีกแบบหนึ่งคือไปติดตั้งที่ร้านบริการติดตั้งกันขโมยทั่วไป ซึ่งยังไม่ทราบราคาที่แน่นอนเพราะยังไม่เคยไปใช้บริการ

คุณสมบัติของกันขโมยแบบ GPS จะใช้สัญญาณจากดาวเทียมชี้ตำแหน่งของรถยนต์ที่ติดตั้ง GPS โดยมันจะบอกตำแหน่งเป็นค่าละติจูด และลองติจูดที่เท่าไร จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ นำมากรอกในช่องค้นหา จากเว็บ maps.google.com แล้ว google จะบอกเป็นแผนที่ตำแหน่งที่อยู่ของรถ เราสามารถพริ้นนำข้อมูลแผนที่ไปแจ้งแก่ตำรวจได้ หากรถถูกขโมยไป

การส่งข้อมูลระหว่างรถยนต์กับเจ้าของ โดยที่เจ้าของรถโทรศัพท์ไปร้องขอจากเครื่อง GPS เครื่องนี้จะส่ง SMS มาบอกเจ้าของรถเป็นตำแหน่งละติจูดกับลองติจูดที่กล่าวไว้ในตอนต้น ดังนั้นที่เครื่อง GPS จึงต้องมี Sim ที่ใส่ในเครื่องโทรศัพท์มือถือติดอยู่กับเครื่อง GPS ด้วย

แต่ที่จะมานำเสนอในครั้งนี้คือ กันขโมยของคนยาก ซึ่งเหมาะสำหรับรถเก่า ๆ เอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ที่เราจำเป็นต้องจอดรถทิ้งไว้ ลับหูลับตาคน หรือจอดไว้หลายชั่วโมง หลายวันหรือจอดรถในแหล่งที่ขโมยชุกชุม ไม่น่าไว้ใจ ขอแนะนำให้ใช้วิธีการถอดฟิวส์ที่อยู่ภายใต้กระโปรงรถ ให้มาดูตำแหน่งที่อยู่ของฟิวส์ ที่อยู่ของฟิวส์จะอยู่ตามรูปด้านล่างนี้นะครับ









วิธีการ
  1. เมื่อเปิดกระโปรงรถแล้ว ให้สังเกตตำแหน่งที่ตั้งของแบตเตอรี่ กล่องฟิวส์จะอยู่ใกล้กัน
  2. เปิดฝากล่องฟิวส์ ข้างในกล่องจะมีฟิวส์หลาย ๆ ตัว ถ้าไม่รู้ว่าตัวไหนเป็นฟิวส์อะไรให้ดูที่ไดอะแกรมบอกบนกล่อง
  3. สำหรับรถที่นำมาแสดงจะอยู่ตำแหน่งลูกศรชี้ จะมีขนาด 30-60 แอมป์ แล้วแต่ยี่ห้อหรือรุ่น
  4. ถอดโดยการดึงออกมาเฉย ๆ ใส่กระเป๋าไปด้วย เมื่อกลับมานำมาใส่กลับที่เดิม ไม่มีขั้วบวกลบ สามารถสลับกันได้ อย่าทำให้หาย ไม่อย่างนั้นต้องเดินกลับ
หรือกรณีที่อยากถอดฟิวส์ตัวอื่น ท่านสามารถดูจากไดอะแกรมบนกล่องได้ แล้วถอดตัวนั้น ๆ ออกมา

จากความรู้เรื่องนี้ ในกรณีที่ฟิวส์ตัวใด ๆ ขาดซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ตัวนั้นไม่ทำงานเราสามารถซื้อฟิวส์มาเปลี่ยนด้วยตนเองได้ เช่น เมื่อไฟหน้ารถไม่ติด สิ่งหนึ่งที่ต้องตรวจสอบคือฟิวส์ในกล่องนี้ ให้สังเกตการลัดด้านบนของฟิวส์จะขาดเป็นรอยไหม้ที่เกิดจากความร้อน ทดลองทำดูนะครับ ปลอดภัยไว้ก่อน

ท้ายนี้ขอฝากข้อคิดคำนึงในการขับรถยนต์ ขอให้ทุกท่านยึดถือและปฏิบัติตามกฏจราจรอย่างเคร่งครัด เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมทาง ให้เห็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของตนและเพื่อนร่วมทาง โดยเฉพาะถ้ามีผู้โดยสารอยู่ในรถด้วยต้องตระหนักเป็นทวีคูณ อย่ากระพริบไฟไล่รถข้างหน้า ไปตลอดทาง แล้วด่าว่ารถคันหน้าช่างขับช้าเสียจริง ๆ เพราะลองใช้สติเตือนตัวเองดูซิว่า เราอาจขับเร็วเกินกฏหมายกำหนดอยู่เพียงผู้เดียวก็ได้ ในครั้งต่อไปถ้าอยากไปถึงที่หมายให้เร็วกว่าคนอื่น ก็ให้ตื่นตอนเช้าเร็วกว่าคนอื่นท่านก็จะไปถึงเร็วกว่าคนอื่น ๆ แล้ว เป็นวิธีที่คิดง่าย ๆ ถ้าทำได้จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้ ขอให้โชคดีทุกท่านครับ

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

DIY ตอน 5 แก้ปัญหาเครื่องยนต์รอบต่ำเมื่อแอร์ทำงาน



รถยนต์เมื่อใช้ไปนาน ๆ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การขับเคลื่อนมักจะสึกหรอตาม ชม. การทำงาน แต่อะไหล่บางชนิด แม้จอดรถเอาไว้เฉยๆ มันก็เสื่อม เขาเรียกว่าเสื่อมตามอายุเช่น ประเภทท่อยางต่าง ๆ เช่น ท่อลม ท่อไหลเวียนของการระบายน้ำร้อน เป็นต้น

วิธีการตรวจสอบว่าท่อยาง เสื่อมแล้วหรือไม่ ให้ใช้ทั้งสายตา และมือบีบดูว่า การยืดตัวมีมากหรือไม่ (ต้องบีบตอนเครื่องยนต์มีความเย็น) ตาดูว่ามันป่อง พองขึ้นมา ผิดปกติหรือเปล่า เพราะถ้าไม่เปลี่ยนมันเสียเกิดท่อรั่วหรือแตกระหว่างทาง แล้วไม่สังเกตความร้อนของเครื่องยนต์ อาจทำให้เครื่องยนต์พังได้

แต่สำหรับวันนี้ไม่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ร้อน แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ท่อเช่นเดียวกัน แต่เป็นท่อลม
ท่อลมเป็นท่อที่ต่อมาจากเครื่องยนต์หลังจากท่อจุดระเบิดออกมาทางท่อไอเสีย สูบใดสูบหนึ่ง ต่อผ่านไปยัง solenoid เพื่อเปิดปิดให้ไปเปิดคันเร่งน้ำมันให้เร่งเครื่องเพิ่มขึ้น เมื่อแอร์ทำงาน

ดังนั้นรถยนต์ของใครก็แล้วแต่ ถ้าหากว่า เมื่อคอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานแล้วเครื่องยนต์รอบต่ำลง จนเครื่องสะดุด ให้เปิดฝากระโปรงสังเกตท่อลมตามรูปนะครับ รถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ ไม่แน่ใจว่าวางอยู่ตำแหน่งใด แต่ภาพที่นำมาให้ดู เป็นยี่ห้อ Mitsubishi รุ่น E-Car จุดที่ต้องดูคือที่ปลายของทั้งสองด้านมีรอยแตกที่เกิดจากความร้อนของเครื่องยนต์หรือไม่ เพราะถ้าแตกจะทำให้ลมรั่วได้ ไม่สามารถไปขับกระเดื่องให้เครื่องยนต์เร่งเครื่องได้ ให้ดูทั้งเส้นเข้าและเส้นออกทั้งสองเส้น

การเปลี่ยนใหม่ ท่านไม่ต้องไปเข้าอู่ให้เขาเปลี่ยนให้นะครับ แนะนำให้ไปซื้อจากร้านขายอะไหล่รถยนต์ โดยเอาตัวอย่างถอดไปด้วย ราคาไม่เกิน 20 บาทเขาวัดความยาวขายเป็นฟุต หรือเมตรซื้อมาแล้วตัดแบ่ง แล้วเปลี่ยนทั้งสองเส้นพร้อมกันทีเดียวเสียเลย

ตั้งแต่ผมใช้รถมานับ 17 ปี ต้องเปลี่ยนประมาณ 3 - 4 ครั้งแล้ว แต่ครั้งล่าสุดไปทดลองใช้ท่อ PE ที่เขาใช้ทำระบบรดน้ำสปริงเคอร์ของชาวเกษตร มาใส่แทน กลับใช้ได้นานกว่า และทนความร้อนได้ดีกว่า

ทดลองทำดูนะครับ ทำด้วยตัวเองได้ ง่ายนิดเดียว เหมือนเดิมครับผม

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

DIY ตอน 4 ซ่อมเครื่องซักผ้า


เครื่องซักผ้าอัตโนมัติ ถังเดียว เปิดฝาบนที่เห็นตามภาพด้านล่างเครื่องนี้ซื้อมาประมาณ 19 ปีแล้ว เป็นของยี่ห้อ SANYO ขนาด 6.5 ก.ก. เป็นระบบอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานด้วยวงจรสวิทช์แบบซี่ร่องฟัน ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ขนาดเล็ก เมื่อทำงานจะมีเสียงดัง ติก ๆๆๆๆๆ ไปเรื่อย ๆ

เครื่องซักผ้าเครื่องนี้ใช้ได้ทนทานมาก มีเสียที่บุชของมอเตอร์ เพียง 1 ครั้ง โชคดีที่ถอดไปที่ร้านซ่อมมอเตอร์ เขามี Rotor แยกขาย โดยถอดโรเตอร์เก่าออก ใส่โรเตอร์ใหม่กลับเข้าไป ใช้ได้เหมือนใหม่อีกครั้ง

อาการที่บอกให้เจ้าของรู้ว่ามอเตอร์จะเสียนั้น คือ มอเตอร์จะขับโหลดไม่ไหว (ไม่ค่อยอยากหมุน หรือหมุนไม่ออก) อาการนี้บางคนอาจจะคิดว่าสายพานอาจหย่อนก็ได้

วิธีการตรวจสอบว่าสายพานหย่อนหรือไม่
ให้ตรวจสอบที่สายพาน โดยใช้มือจับสายพานบีบเข้าหากัน ต้องให้หย่อนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จึงจะดี ห้ามตึงเกินไป ดังรูป




วิธีการตรวจสอบว่าบุชเสีย บุชเสื่อมหรือไม่

โดยการจับที่แกนหมุนของมอเตอร์ ที่เป็นแป้นสวมสายพาน นั้นแหละ
ให้จับโยกดู ถ้าหลวมหรือคลอนแสดงว่าบุชเสื่อมแล้ว ต้องเปลี่ยนบุช ให้ถอดมอเตอร์ทั้งลูกเอาไปให้ร้านซ่อมมอเตอร์ เปลี่ยนบุชให้ใหม่ ปกติบุชที่เปลี่ยนใหม่คุณภาพจะไม่ดี แนะนำให้ถามว่ามีขายชุดโรเตอร์หรือไม่ เพราะชุดโรเตอร์จะประกอบด้วยบุชและโรเตอร์อยู่ในตัวเดียวกัน
ราคาไม่แพงครับ คุณภาพดี



ในกรณีที่สายพานหย่อนเกินไป
เราสามารถปรับให้ตึงได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเรียกหาช่าง วิธีการโดยการวางเครื่องให้นอนตะแคง
นำประแจเลื่อน หรือไขควงแฉกขนาดใหญ่ก็ได้ หมุนที่ยึดมอเตอร์ออกเพียงหลวม ๆ ทั้ง 2 ด้าน
ถ้าปรับตึงเกินไปจะทำให้บุชสึกหรอเร็ว มอเตอร์จะร้อน ถ้าหย่อนมากเกินไปสายพานจากมอเตอร์จะหมุนถังซักไปได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติตนของคน ไม่ตึงเกินไป หรือหย่อนยานวินัยเกินไป ฉันใดก็ฉันนั้น

DIY ในตอนนี้คงมีประโยชน์ สำหรับพ่อบ้านที่ไม่ได้เป็นช่างโดยตรง แต่อยากจะทำอะไรด้วยตนเอง ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

ข้อควรระวัง
  • ก่อนจะซ่อมหรือตรวจสอบท่านต้องถอดปลั๊กไฟฟ้าออกก่อนเสมอ
  • ตรวจสอบว่าสายไฟโดนหนูกัดสายหรือแทะสายหรือไม่ ถ้าโดนให้ซื้อเทปพันสายไฟมาพันเสียก่อน
สำหรับผู้ที่พำนักอยู่ที่อเมริกา ขอแนะนำเครื่องซักผ้ายี่ห้ออิเลคโทรลักซ์ ฝาหน้า ที่ทนทานกว่า SANYO คลิกรายละเอียดด้านล่างนี้ครับ ฟรีค่าส่ง





วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอน 3 การเปลี่ยนหัวเทียนรถยนต์



สำหรับผู้ที่มีรถยนต์ เมื่อมีปัญหาด้านเครื่องยนต์เล็ก ๆ น้อย ๆ มักจะใช้บริการของศูนย์ซ่อมของตัวแทนจำหน่าย เมื่อล่วงเลยระยะหมดประกันหลายคนขอไปใช้บริการจากอู่ซ่อมข้างนอก โดยพยายามเสาะแสวงอู่ที่ฝีมือดี ราคาที่ย่อมเยา สมเหตุสมผล ผมเองได้พบพี่คนหนึ่งที่มีรถรับจ้าง เขามักจะดูแลรักษารถด้วยตนเองเสมอ ไม่ว่าจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทำสี ตอนนี้อายุรถของเขามากกว่า 25 ปี ยังขับรับจ้างได้อยู่อีกและไม่โทรมด้วย และเคยเห็น อาจารย์ ดร. ผู้หญิงที่จบจากอเมริกา ดูแลรักษารวมทั้งซ่อมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วยตนเอง แกเล่าว่า เริ่มดูแลรักษารถด้วยตนเองตั้งแต่เรียนอยู่ที่อเมริกา เพราะที่นั่นค่าแรงงานราคาแพงมาก เขามักจะ DIY กันเยอะ เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ชอบทำด้วยตนเองถ้ามีเวลาว่าง

ผมจึงเกิดมีความคิดอยากทำด้วยตนเองบ้าง เพราะตอนไปใช้บริการจากอู่ซ่อมรถ มักจะคอยดูวิธีการทำ พยายามสอบถามเอาบ้าง หรือศึกษาจากตำราบ้าง เมื่อรถมีปัญหาจึงสามารถเอาตัวรอดนำรถกลับถึงบ้านได้

ผมมีรถ Mitsubishi รุ่น Lancer E-Car ปี 1993 ปัญหาที่เกิดครั้งแรกคือ หม้อน้ำเดือด เข็มความร้อนเต็มเสกล ทั้งที่ตอนขับจะดูเข็มอยู่เรื่อย ๆ สังเกตุเห็นผิดปรกติเข็มสูงเกินครึ่ง ก่อนถึงบ้าน ประมาณ 10 กม. ฝืนขับต่อ แต่เครื่องมาดับก่อนถึงบ้านไม่ถึง 1 กม. ต้องจอดรอให้เครื่องเย็น จากนั้นค่อยเปิดเติมน้ำที่หม้อน้ำ สตาร์ตขับต่อไปได้ เมื่อเข้าศูนย์ช่างถอดวาล์วน้ำมาต้มนำ้ดูข้างนอก ปรากฏว่าสปริงไม่ยอมยืดออกมา แสดงว่าวาล์วน้ำไม่ทำงาน ต้องเปลี่ยนใหม่ พร้อมกับปะเก็นของเครื่องยนต์ใหม่ นี่คือประสบการณ์ครั้งแรกที่เครื่องยนต์ร้อน

เมื่อต้องขับทางไกลจึงวางแผนว่า ต้องซื้อวาล์วปิดเปิดเอาไว้เป็น Spare part ติดรถไว้ 1 อัน ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจริง ตอนขับรถจาก กทม. กลับหาดใหญ่ หม้อน้ำร้อนขึ้น ต้องหยุดรถก่อนเครื่องดับ จึงใช้ประแจแหวนที่ซื้อมาประจำรถถอดเปลี่ยนวาล์วที่สำรองเอาไว้ด้วยความมั่นใจว่าน่าจะเกิดจากอาการเดิม ตอนนั้นเสียแถว ๆ สมุทรสงคราม แล้วขับต่อ ก่อนถึงเพชรบุรีเครื่องร้อนอีก ต้องเข้าร้านซ่อมหม้อน้ำ ปรากฏว่าหม้อน้ำตัน ต้องล้างหม้อน้ำ เสียเวลาไป 2 ชม. กลับเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

ได้ความรู้จากช่างเขาแนะนำว่าถ้าพบว่าเครื่องร้อน มีความร้อนขึ้นที่หม้อน้ำ ให้รีบดับเครื่องยนต์แต่ให้เปิดแอร์ทำงาน เพราะพัดลมระบายความร้อนของแอร์จะช่วยพัดระบายความร้อนของเครื่องยนต์ได้ ไม่ทำให้เครื่องยนต์พังก่อนกำหนด

ตอนหลัง ๆ มานี้พยายามตรวจดูว่าหม้อน้ำสกปรก มีน้ำเกิดสนิมเยอะหรือไม่ ถ้ามีให้เปลี่ยนถ่ายน้ำด้วยตนเอง วิธีการถ่ายน้ำนั้นไม่ยาก เพียงแต่เรารอให้เครื่องยนต์เย็น หม้อน้ำเย็น แล้วเปิดรูระบายน้ำซึ่งอยู่ด้านล่างของหม้อน้ำ หมุนเกลียวถอดธรรมดา พร้อมกับเปิดฝาหม้อน้ำด้านบนออกมา น้ำจะไหลออกจนหมด แนะนำให้ใช้น้ำประปาฉีดไล่สนิมภายในหม้อน้ำออกเสียก่อน แล้วค่อยปิดรูระบายน้ำกลับเหมือนเดิม เติมน้ำเข้าทางฝาด้านบนจนเต็ม ส่วนถังที่เก็บน้ำพัก ซึ่งต่อท่อมาจากหม้อน้ำให้ถอดออกมาเททิ้งเสียด้วย ให้เติมน้ำยารักษาหม้อน้ำในถังนี้จะช่วยยืดการเกิดสนิมในน้ำ เขาว่าทำให้น้ำไม่ร้อนจัดด้วย อย่าลืมปิดฝากลับให้สนิท ถ้าถอดหม้อพักน้ำไม่ได้ ให้ใช้วิธีเป่าน้ำให้น้ำไหลออกมาก็ได้

ตอนนี้จึงไม่เกิดปัญหาหม้อน้ำร้อนอีกเลย

ในตอนนี้จะพูดถึงการเปลี่ยนหัวเทียน ซึ่งจากการค้นหาความรู้จากในเว็บ หลายคนแนะนำว่า เมื่อครบ 20,000 กม. ให้เข้าอู่ เปลี่ยนหัวเทียนได้เลยไม่ต้องรอให้เสีย สำหรับคนที่ไม่เชื่อ แล้วขับต่อไปเรื่อย ๆ รอให้เสียแล้วค่อยเปลี่ยน ให้ระวังจะเสียขณะขับทางไกล ดังนั้นสมควรซื้อสำรองเก็บเอาไว้ในรถ (ของผมตอนนี้ไมล์มากกว่าสองแสนห้าเพิ่งเปลี่ยนหัวเทียนครั้งที่ 3 เอง)

สำหรับอาการที่เตือนว่าหัวเทียนจะเสียให้สังเกต รอบเครื่องยนต์ จะกระตุกเมื่อเราเร่ง ตอนแรกบางคนอาจคิดว่ามีน้ำมันปลอมปน อย่าฝืนขับต่อไปเพราะอาจจะดับขณะขับแซง มันอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้นะครับ โดยเฉพาะถนนที่เป็น 2 เลน

วิธีการเปลี่ยนหัวเทียนด้วยตนเองนั้นไม่ยาก เราสามารถนำเครื่องมือถอดหัวเทียนที่ติดมากับรถ หัวเทียนให้ใช้เบอร์เดียวกับที่ติดรถ ของผมใช้ของ Denso เบอร์ 7 ราคาหัวละ 50 บาท ให้ซื้อจากร้านอะไหล่จะดีกว่า เพราะหัวเทียนราคาไม่แพงคงไม่มีของปลอม

การเปลี่ยนต้องถอดสายไฟออกก่อน แล้วจึงถอดขันหัวเทียนออกมา เอาหัวเทียนใหม่ใส่กลับทันที พร้อมกับสวมสายไฟกลับไป แล้วค่อยทำกับหัวเทียนหัวที่ 2 ต่อไป ข้อควรระวัง อย่าถอดสายไฟจนหมดทุกเส้น แล้วถอดหัวเทียนออกมาหมด แล้วจึงใส่กลับพร้อมกัน เพราะจะทำให้เกิดการสลับสายไฟจุดระเบิดได้ เพราะนั่นคือปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะจะทำให้เครื่องยนต์ไม่ติดได้

บางตำแหน่งของหัวเทียนอาจจะต้องถอดชุดกรองอากาศออกก่อน ให้ถอดกรองอากาศออกเสียก่อน เพราะใส่กลับไม่ยาก

การทำอะไรด้วยตนเอง นอกจากจะภาคภูมิใจแล้ว ทำให้เกิดทักษะความเป็นช่าง เพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถทำงานที่ยากและซับซ้อนกว่านี้ได้ โดยไม่กลัวมันอีกต่อไป มาฝึกเป็น DIY กันเถอะ

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบรถอเมริกา หรือรถนำเข้า หรือรถเก่า มักจะเกิดปัญหาหาอะไหล่ยาก
บัดนี้ Amazon.com มีบริการขายอะไหล่ หรือผู้ที่ชอบแต่งรถ สามารถค้นหาได้จากลิงค์ค้นหาด้านล่างนี้ครับ



วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอน 2 ซ่อมติดตั้งจานดาวเทียม ด้วยตนเอง


สวัสดีครับชาว D.I.Y. วันนี้ขอเสนอการซ่อม ปรับปรุงจานรับดาวเทียมเพื่อดูทีวี และวิทยุ จากดาวเทียมไทยคม 2 และ 5 รวมทั้งดาวเทียม NSS6 โดยไม่ต้องใช้เข็มทิศ

ความเดิม

ผมเคยซื้อและติดตั้งจานดาวเทียมด้วยตนเองมานานแล้ว จำปีที่แน่นอนไม่ได้แล้ว แต่น่าจะมากกว่า 12 ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีดาวเทียมไทยคมรับทีวีไทย ยังเป็นยุคดาวเทียมอนาล็อก ใช้ของ AsiaSat และ Palapa ของเดิมที่ติดเป็นของ AsiaSat จำองศาและมุมเงยไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเอาไว้ดู MTV กับรายการต่างประเทศประมาณ 5-6 ช่องเท่านั้น ใช้ได้ประมาณ 5-6 ปี Receiver ก็เสียพร้อมกันกับ LNB ไม่คิดที่จะจะซ่อม เพราะรายการยังไม่มากเหมือนปัจจุบัน

ช่วงนี้สัญญาณทีวีที่ใช้อยู่ไม่ชัด จึงคิดจะเอาจานเดิม แล้วซื้อ Receiver กับ LNB มาเปลี่ยนใหม่ และใช้สายสัญญาณ RG6U กับจานขนาด 5.5 ฟุตเดิม

เริ่มต้นได้ศึกษาจากเว็บผู้ขายสินค้า ได้แก่ www.psi.co.th เห็นว่า การติดตั้งง่ายกว่าเดิมแบบเก่า ราคาเครื่องและอุปกรณ์ก็ไม่แพง จึงได้จัดซื้อ Receiver รุ่น O2 ของ PSI มาในราคา 1050 บาท และ LNB ทั้ง C-band และ KU-Band หัวรับเป็น Duo เพื่อจะดู 2 จุด และมีตัวรวมสัญญาณ (D2R-4s) 1 ตัว

ก่อนวันติดตั้งจริง ได้ศึกษา มุมส่าย มุมเงยของดาวเทียมไทยคม จากเว็บไซต์ข้างต้น ดูตารางมุมส่ายอยู่ที่ 252.83 องศา มุมเงยอยู่ที่ 26.84 องศา (จังหวัดสงขลา) ในขณะที่การติดตั้งยังไม่มีเข็มทิศ หรือเครื่องมือติดตั้งดาวเทียมอยู่เลย วิธีแก้ปัญหาคือ เอากระดาษ มาวาดเป็น 4 ทิศ และคำนวณมุม 252 และกะประมาณมุมเงย ได้ดังรูป



ให้สังเกตุจากมุม 270 นั่นคือทิศตะวันตก ให้หันหน้าจานไปทางนั้นก่อน ปรับมุมเงยประมาณ 26 องศาในแนวขนานกับพื้นคือ 0 ตั้งฉากคือ 90 ดังนั้นมุมเงยจะไม่เกินครึ่งหนึ่งของมุมฉาก (คิดแบบง่าย ๆ)

ถัดจากนั้นถอดหัว LNB เดิมออก ซึ่งขึ้นสนิมหมดแล้ว ไม่สามารถใช้ประแจมาขันออกได้ ผมได้ใช้เลื่อยเหล็ก เลื่อยน็อต-สกรูออกทั้ง 4 ตัว จัดแจงใส่หัว LNB ใหม่เข้าไป ซึ่งเขาแนะนำให้มุม 240 องศาที่เขาขีดบอกไว้ที่หัว LNB ให้ชี้ลงด้านล่าง ระยะห่างระหว่างหัว LNB กับที่จับมีระยะห่าง 2 เซ็นติเมตร เมื่อขึ้นไปทำบนหลังคาแล้ว ได้ลืมเอาไม้บรรทัดไปด้วย แก้ปัญหาโดยวัดเอากับประแจเลื่อนที่เขาทำขีดเอาไว้ ก็สามารถแทนกันได้


ก่อนที่จะยึดตัวจับ LNB เราต้องยึดพร้อมกับตัวรองรับหมวกกันฝนและก้านยึด LNB KU-Band พร้อมกัน

การยึดหัว KU-Band ให้ตำแหน่ง LNB ลงมาด้านล่าง ปอกสาย RG6U เพื่อต่อกับ F-Type จำนวน 4 เส้น ไม่ยาวมากนัก ต่อกับ D2R-4s เป็นตัวรวมสัญญาณ (เขามีไดอะแกรมบอกที่ตัว D2R-4s) นำสาย RG6U ที่ต่อมายังเครื่องรับ Receiver ที่ในห้อง เข้าหัว F-Type ทั้ง 2 เส้น ต่อเข้าที่ D2R-4S ที่จุด R1, R2 ตามลำดับ (R1 หมายถึง Receiver 1 การต่อในครั้งนี้สามารถดูได้ 4 จุด)

หลังจากนั้นลงมาเสียบ F-Type ที่ปลายสายในตัวบ้าน เข้ากับขั้วต่อท้าย Receiver นำสาย A/V มาต่อจาก Receiver ไปยังเครื่องรับ TV โดยให้เอาด้าน Video-out ของ Receiver ไปเสียบเข้ากับ Video-in ของทีวี และ Audio ก็ให้ทำเช่นเดียวกัน

จัดการเสียบปลั๊กไฟฟ้าของเครื่องทั้งสอง เปิด Power และปรับช่องทีวีให้เป็น AV ให้เปลี่ยนช่องเฉพาะ ที่ Receiver เท่านั้น

เมื่อลงมาจากหลังคาครั้งแรก ปรากฏว่าไม่มีสัญญาณเลย จึงขึ้นกลับไปใหม่ ไปพร้อมกับกล้องถ่ายรูป แล้วลงมือปรับมุมส่ายใหม่อีกครั้ง ได้ภาพการติดตั้งมาพอสังเขป ดังนี้




โชคดีเมื่อขึ้นไปครั้งที่ 2 สัญญาณฟรีทีวี ช่อง 3-5-7-9-11 รับได้ชัดเจน ได้ระดับสัญญาณที่ 79 คุณภาพสัญญาณที่ 82 เป็นที่น่าพอใจ จากนั้นจึงทำการปรับมุมส่าย มุมเงยอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยสื่อสารกับฝั่งด้าน Receiver โดยใช้โทรศัพท์มือถือ เสียเวลาพอสมควรกว่าจะได้คุณภาพทุกช่อง

เป็นอันว่าสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ จัดการเก็บสาย เก็บงานให้สวยงาม ปิดหมวกกันฝน อันนี้สำคัญในครั้งที่แล้ว ไม่ได้ใส่ มักจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียได้ง่าย เพราะอิเล็กทรอนิกส์กับฝนไม่ค่อยไปด้วยกันได้

ขันน็อตยึดทั้งมุมส่ายและมุมเงยให้แน่นก่อนลงมา

วัสดุและเครื่อมือที่ใช้ดังรูป



ภาพเมื่องานเสร็จแล้ว





จะเห็นว่าการติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อรับชมทีวี เป็นเรื่องง่าย ๆ ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่มีใจรักในเรื่อง D.I.Y. และพยายามเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ รู้จักใช้เครื่องมือให้เป็นบ้าง

ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ ในการซื้อจานดำ ปัจจุบันราคาทั้งชุดขายอยู่ที่ 1900-2000 บาท
1 ชุดประกอบด้วย
  1. จานโปร่งขนาด 5 ฟุต
  2. Receiver 1 ตัว
  3. LNB C-Band 1 ตัว
  4. สายสัญญาณต้องเป็น RG6U คุณภาพสูงกว่าสายสัญญาณโทรทัศน์ทั่วไป ความยาวขึ้นอยู่กับระยะจานกับจุดรับทีวี
  5. F-Type จำนวน 2 ตัว
เครื่อมือที่ใช้เพิ่มเติม สว่านไฟฟ้า พุกหรือหัวระเบิด ประแจเลื่อน คัตเตอร์ คีมตัดสาย

แนะนำเครื่องเสียงสำหรับคนที่ชื่นชอบเสียงเพลง MV มาเสริมการฟังให้บรรยากาศในการฟังที่ดีขึ้น ด้วย ONKYO Receiver ด้านล่างครับ ซื้อโดยตรงจาก Amazon.com เปรียบเทียบราคาจากเมืองไทยดูนะครับ




วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอนที่ 1 ติดตั้งฉนวนกันความร้อน

เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาทุกท่านจะรับรู้กันว่า อุณหภูมิร้อนมากกว่าทุก ๆ ปี หลายคนหาวิธีหลีกหนีความร้อน ด้วยการไปเดินห้าง บ้างก็ไปสวนสาธารณะ บ้างก็ไปทะเล มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แก้ปัญหาได้ไปเพียวัน ๆ บางครั้งกลับมีปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่นถ้าำไปเดินห้าง จะมีสินค้าล่อตาล่อใจ ทำให้สูญเสียเงินทองโดยใช่เหตุ ไปซื้อของด้วยเหตุว่าลดราคา แต่เมื่อกลับมาบ้านของนั้นมีอยู่แล้วที่บ้าน ที่ซื้อเพราะว่ามันลดราคา

มาดูอีกวิธีหนึ่งที่ลดความร้อนให้บ้าน ด้วยวิธีติดตั้งฉนวนกันความร้อน จะแก้ปัญหาความร้อนได้ตลอดไป ผมเริ่มจากการค้นหาความรู้เรื่องฉนวนกันความร้อนว่า มีชนิดใด ยี่ห้อใด ราคาเท่าไร เพื่อคำนวณงบประมาณที่จะใช้ ด้วยการเข้าไปห้องชายคา ในพันทิพย์ (www.pantip.com) มีผู้รายงานการใช้ฉนวน Stay cool ตราช้าง ของ SCG พร้อมราคาและวิธีการติดตั้ง จึงคิดว่า น่าจะ DIY ได้ จึงได้ไปซื้อที่ HomePro ราคาถุงละ 450 บาท ความหนาขนาด 6 นิ้ว ถ้า 3 นิ้วราคา 350 บาททดลองซื้อมาทั้ง 2 แบบในตอนแรกตั้งใจจะติดตั้งเฉพาะในห้องทำงาน และห้องนอนก่อน





ขั้นตอนการติดตั้งไม่ยาก โชคดีที่บ้านใช้ฝ้าแบบแผ่นเรียบ ขึ้นไปเดินบนฝ้าได้ จึงนำถุง Stay cool ขึ้นไปเปิดข้างบนฝ้า

เครื่องมือที่ใช้
  1. กรรไกรตัดกระดาษ ใช้ตัดเทปฟรอยด์อลูมิเนียมและตัดขอบที่ปลายฉนวนให้เสมอกัน
  2. ถุงมือ ป้องกันใยแก้วถูกผิวหนัง (จะรู้สึกคัน)
  3. หน้ากากอนามัย (mask) ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต
  4. บันได

การติดตั้ง

เริ่มจาก
  1. เปิดถุงดึงฉนวนออกมาอย่างระมัดระวังอย่าให้ฟรอยด์อลูมิเนียมที่เคลือบฉีกขาด จะทำให้ใยแก้วแตกหลุดออกมาได้ (ถ้าฉีกขาดต้องใช้เทปฟรอยด์อลูมิเนียมปิด)
  2. คลี่ฉนวนซึ่งมี ความกว้าง 0.60 เมตรความยาว 4 เมตรออกมา ที่ปลายทั้ง 2 ยังไม่ได้ปิด จึงต้องนำเทปฟรอยด์มาปิดทั้งสองด้านให้สนิท
  3. วาง Stay cool ตามร่องของฝ้าซึ่งมีขนาดความกว้างเท่ากันคือ 0.6 เมตรให้ขนานกันจนเต็มพื้นที่ อย่าให้มีพื้นที่ว่าง
  4. ปรับแต่งจุดรั่ว หรือขาดโดยการปิดเทปฟรอยด์ทุกจุด




รายงานผลหลังการติดตั้ง

อุณหภูมิภายในห้องลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด แต่อุณหภูมิภายในฝ้า ใต้หลังคาจะสะสมความร้อนสูงขึ้น
การแผ่รังสีความร้อน จากใต้ฝ้าลงสู่พื้นแทบจะไม่มี สำหรับบ้านที่อยู่ริมภูเขา ริมป่าไม้ จะมีข้อเสียในเรื่องความเย็น ในช่วงกลางคืน ถ้าเดิมที่เคยรู้สึกเย็นสบายตอนย่ำรุ่ง เมื่อติด Stay cool แล้วจะไม่รู้สึกเย็นมากนัก ทั้งนี้เพราะฉนวนอาจจะกักเก็บความเย็นไว้บนฝ้า ไม่ยอมผ่านลงมาในห้องนะครับ ต้องรับความเย็นจากผนังบ้านทางเดียว

ความเห็นเพิ่มเติม

ไม่จำเป็นต้องใช้ขนาด 6 นิ้ว ในกรณีที่บ้านของท่านมีช่องระบายความร้อนดี ควรใช้ 3 นิ้ว เพราะดู spec แล้วขนาด 6 นิ้วทนความร้อนสะสมได้ถึง 22 ชม. ขนาด 3 นิ้ว สะสมความร้อนได้ถึง 10 ชม. ซึ่งเพียงพอกับแสงแดดในประเทศไทย ขนาด 2 นิ้ว ได้ 7 ชม.

ควรดูสินค้ายิ่ห้อ อื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบ สำหรับของผมในหนึ่งหลังใช้ 2 ยี่ห้อ 3 ขนาดด้วยกัน ตั้งแต่ 6 นิ้ว 3 นิ้ว และ 2 นิ้ว
2 นิ้วของยี่ห้ออะไรจำไม่ได้แล้ว ราคา 173 บาท และให้ไปหาร้านที่ลดราคาหลาย ๆ ร้าน ขนาด 3 นิ้วได้ในราคา 279 บาท แต่เป็นชนิดที่หุ้มด้วย เมทาไลท์ฟิล์ม ขาดง่ายกว่า ถ้าท่านอยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล หรือภาคกลาง ลองค้นหาใน google ด้วยคำค้นว่า stay cool 399 ด้วย
e-commerce ร้านนั้นเขาขาย 6 นิ้วเพียง 399 บาทเท่านั้นเอง

ทดลองทำด้วยตนเอง นอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้ว ทำให้เราภูมิใจ และรักบ้านขึ้นอีกเยอะเลยครับ ลองดูนะครับ

comment from facebook