วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอน 2 ซ่อมติดตั้งจานดาวเทียม ด้วยตนเอง


สวัสดีครับชาว D.I.Y. วันนี้ขอเสนอการซ่อม ปรับปรุงจานรับดาวเทียมเพื่อดูทีวี และวิทยุ จากดาวเทียมไทยคม 2 และ 5 รวมทั้งดาวเทียม NSS6 โดยไม่ต้องใช้เข็มทิศ

ความเดิม

ผมเคยซื้อและติดตั้งจานดาวเทียมด้วยตนเองมานานแล้ว จำปีที่แน่นอนไม่ได้แล้ว แต่น่าจะมากกว่า 12 ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีดาวเทียมไทยคมรับทีวีไทย ยังเป็นยุคดาวเทียมอนาล็อก ใช้ของ AsiaSat และ Palapa ของเดิมที่ติดเป็นของ AsiaSat จำองศาและมุมเงยไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเอาไว้ดู MTV กับรายการต่างประเทศประมาณ 5-6 ช่องเท่านั้น ใช้ได้ประมาณ 5-6 ปี Receiver ก็เสียพร้อมกันกับ LNB ไม่คิดที่จะจะซ่อม เพราะรายการยังไม่มากเหมือนปัจจุบัน

ช่วงนี้สัญญาณทีวีที่ใช้อยู่ไม่ชัด จึงคิดจะเอาจานเดิม แล้วซื้อ Receiver กับ LNB มาเปลี่ยนใหม่ และใช้สายสัญญาณ RG6U กับจานขนาด 5.5 ฟุตเดิม

เริ่มต้นได้ศึกษาจากเว็บผู้ขายสินค้า ได้แก่ www.psi.co.th เห็นว่า การติดตั้งง่ายกว่าเดิมแบบเก่า ราคาเครื่องและอุปกรณ์ก็ไม่แพง จึงได้จัดซื้อ Receiver รุ่น O2 ของ PSI มาในราคา 1050 บาท และ LNB ทั้ง C-band และ KU-Band หัวรับเป็น Duo เพื่อจะดู 2 จุด และมีตัวรวมสัญญาณ (D2R-4s) 1 ตัว

ก่อนวันติดตั้งจริง ได้ศึกษา มุมส่าย มุมเงยของดาวเทียมไทยคม จากเว็บไซต์ข้างต้น ดูตารางมุมส่ายอยู่ที่ 252.83 องศา มุมเงยอยู่ที่ 26.84 องศา (จังหวัดสงขลา) ในขณะที่การติดตั้งยังไม่มีเข็มทิศ หรือเครื่องมือติดตั้งดาวเทียมอยู่เลย วิธีแก้ปัญหาคือ เอากระดาษ มาวาดเป็น 4 ทิศ และคำนวณมุม 252 และกะประมาณมุมเงย ได้ดังรูป



ให้สังเกตุจากมุม 270 นั่นคือทิศตะวันตก ให้หันหน้าจานไปทางนั้นก่อน ปรับมุมเงยประมาณ 26 องศาในแนวขนานกับพื้นคือ 0 ตั้งฉากคือ 90 ดังนั้นมุมเงยจะไม่เกินครึ่งหนึ่งของมุมฉาก (คิดแบบง่าย ๆ)

ถัดจากนั้นถอดหัว LNB เดิมออก ซึ่งขึ้นสนิมหมดแล้ว ไม่สามารถใช้ประแจมาขันออกได้ ผมได้ใช้เลื่อยเหล็ก เลื่อยน็อต-สกรูออกทั้ง 4 ตัว จัดแจงใส่หัว LNB ใหม่เข้าไป ซึ่งเขาแนะนำให้มุม 240 องศาที่เขาขีดบอกไว้ที่หัว LNB ให้ชี้ลงด้านล่าง ระยะห่างระหว่างหัว LNB กับที่จับมีระยะห่าง 2 เซ็นติเมตร เมื่อขึ้นไปทำบนหลังคาแล้ว ได้ลืมเอาไม้บรรทัดไปด้วย แก้ปัญหาโดยวัดเอากับประแจเลื่อนที่เขาทำขีดเอาไว้ ก็สามารถแทนกันได้


ก่อนที่จะยึดตัวจับ LNB เราต้องยึดพร้อมกับตัวรองรับหมวกกันฝนและก้านยึด LNB KU-Band พร้อมกัน

การยึดหัว KU-Band ให้ตำแหน่ง LNB ลงมาด้านล่าง ปอกสาย RG6U เพื่อต่อกับ F-Type จำนวน 4 เส้น ไม่ยาวมากนัก ต่อกับ D2R-4s เป็นตัวรวมสัญญาณ (เขามีไดอะแกรมบอกที่ตัว D2R-4s) นำสาย RG6U ที่ต่อมายังเครื่องรับ Receiver ที่ในห้อง เข้าหัว F-Type ทั้ง 2 เส้น ต่อเข้าที่ D2R-4S ที่จุด R1, R2 ตามลำดับ (R1 หมายถึง Receiver 1 การต่อในครั้งนี้สามารถดูได้ 4 จุด)

หลังจากนั้นลงมาเสียบ F-Type ที่ปลายสายในตัวบ้าน เข้ากับขั้วต่อท้าย Receiver นำสาย A/V มาต่อจาก Receiver ไปยังเครื่องรับ TV โดยให้เอาด้าน Video-out ของ Receiver ไปเสียบเข้ากับ Video-in ของทีวี และ Audio ก็ให้ทำเช่นเดียวกัน

จัดการเสียบปลั๊กไฟฟ้าของเครื่องทั้งสอง เปิด Power และปรับช่องทีวีให้เป็น AV ให้เปลี่ยนช่องเฉพาะ ที่ Receiver เท่านั้น

เมื่อลงมาจากหลังคาครั้งแรก ปรากฏว่าไม่มีสัญญาณเลย จึงขึ้นกลับไปใหม่ ไปพร้อมกับกล้องถ่ายรูป แล้วลงมือปรับมุมส่ายใหม่อีกครั้ง ได้ภาพการติดตั้งมาพอสังเขป ดังนี้




โชคดีเมื่อขึ้นไปครั้งที่ 2 สัญญาณฟรีทีวี ช่อง 3-5-7-9-11 รับได้ชัดเจน ได้ระดับสัญญาณที่ 79 คุณภาพสัญญาณที่ 82 เป็นที่น่าพอใจ จากนั้นจึงทำการปรับมุมส่าย มุมเงยอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยสื่อสารกับฝั่งด้าน Receiver โดยใช้โทรศัพท์มือถือ เสียเวลาพอสมควรกว่าจะได้คุณภาพทุกช่อง

เป็นอันว่าสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ จัดการเก็บสาย เก็บงานให้สวยงาม ปิดหมวกกันฝน อันนี้สำคัญในครั้งที่แล้ว ไม่ได้ใส่ มักจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียได้ง่าย เพราะอิเล็กทรอนิกส์กับฝนไม่ค่อยไปด้วยกันได้

ขันน็อตยึดทั้งมุมส่ายและมุมเงยให้แน่นก่อนลงมา

วัสดุและเครื่อมือที่ใช้ดังรูป



ภาพเมื่องานเสร็จแล้ว





จะเห็นว่าการติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อรับชมทีวี เป็นเรื่องง่าย ๆ ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่มีใจรักในเรื่อง D.I.Y. และพยายามเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ รู้จักใช้เครื่องมือให้เป็นบ้าง

ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ ในการซื้อจานดำ ปัจจุบันราคาทั้งชุดขายอยู่ที่ 1900-2000 บาท
1 ชุดประกอบด้วย
  1. จานโปร่งขนาด 5 ฟุต
  2. Receiver 1 ตัว
  3. LNB C-Band 1 ตัว
  4. สายสัญญาณต้องเป็น RG6U คุณภาพสูงกว่าสายสัญญาณโทรทัศน์ทั่วไป ความยาวขึ้นอยู่กับระยะจานกับจุดรับทีวี
  5. F-Type จำนวน 2 ตัว
เครื่อมือที่ใช้เพิ่มเติม สว่านไฟฟ้า พุกหรือหัวระเบิด ประแจเลื่อน คัตเตอร์ คีมตัดสาย

แนะนำเครื่องเสียงสำหรับคนที่ชื่นชอบเสียงเพลง MV มาเสริมการฟังให้บรรยากาศในการฟังที่ดีขึ้น ด้วย ONKYO Receiver ด้านล่างครับ ซื้อโดยตรงจาก Amazon.com เปรียบเทียบราคาจากเมืองไทยดูนะครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

comment from facebook