ระบบเดิม ๆ มันจะมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนจากเครื่องยนต์ เมื่ออุณหภูมิถึงระดับที่กำหนดไว้มันจะทำงานทันที เมื่อเย็นแล้วจึงหยุด บางทีขณะขับรถตอนกลางคืน หรือขณะฝนตก พัดลมนี้อาจทำงานน้อยลง แต่เมื่อได้ไปซ่อมแอร์เปลี่ยนชุดคอนเด็นเซอร์ใหม่ ช่างเขาเปลี่ยนคอนเด็นเซอร์ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมไปบังหม้อน้ำรถยนต์ ช่างแอร์เขาเลยต่อรีเลย์ควบคุมให้มอเตอร์ระบายความร้อนทำงานทั้งตอนแอร์ทำงานกับเครื่องยนต์ร้อน ดังนั้น พัดลมระบายความร้อนจึงทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้มอเตอร์พัดลมเสื่อมเร็วขึ้น เมื่อปีที่แล้ว (มิ.ย. 2555) พัดลมจึงหมดอายุขัยเกินกว่าจะซ่อมได้ และประจวบเหมาะที่ไปเสียจังหวัดภูเก็ต หมดสิทธิ์ที่จะเลือกแนวทางการซ่อม จึงให้ช่างที่ขายพัดลมเปลี่ยนให้ เป็นของใหม่เขาบอกว่าเป็นของ MITSUBISHI แท้ (เฉพาะกล่อง) ราคา 1,200 บาท โดยประมาณ จึงตกลงให้เปลี่ยนให้
พัดลมดังกล่าวใช้ได้ปีกว่า ๆ ก็เกิดมีเสียงบุชดัง และฝืด เมื่อขณะที่ตัดการทำงาน พัดลมจะหยุดทันที ซึ่งเป็นอาการที่ผิดปกติของมอเตอร์พัดลม ซึ่งปกติมันจะหมุนต่อด้วยแรงเฉี่อยไปอีกระยะหนึ่ง เมื่อตรวจสอบดูปรากฏว่า มอเตอร์ตัวนี้บุชด้อยคุณภาพ ทำให้พัดลมทำงานหนัก เกิดความร้อน เสี่ยงต่อเกิดไฟไหม้ได้ โดยเฉพาะรถที่ติดแกสเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น อย่ารอให้มันเสีย หรือเกิดเหตุร้ายขึ้นก่อน จึงเลยมาหาอะไหล่พัดลมมือสองมาใช้แทนดีกว่า และมีความเชื่อว่าของติดรถ เป็นของแท้ ทน ถึก มากกว่าเกรดอะไหล่
มาถึงขั้นตอนการเปลี่ยนกันเลยดีกว่า
ขั้นตอนการถอดชิ้นส่วนพัดลมและอุปกรณ์ข้างเคียง
1. ถอดน็อตยึดเฟรมพัดลมของหม้อน้ำ 2 ตัว
2. ถอดน็อตยึดท่อยางเข้าหม้อน้ำ และสายยางไปท่อพักน้ำ ดังภาพ ตามลูกศรชี้
3. ถอดน็อตยึดเฟรมพัดลมคอนเด็นเซอร์เครื่องปรับอากาศ จำนวน 2 ตัว
4. ถอดเฟรมพัดลมแอร์ออกมาก่อน โดยการดึงขึ้นมา ต้องถอดซ็อกเก็ตสายไฟออกก่อน (อยู่ด้านขวามือพัดลม)
5. ถอดท่อน้ำทั้งสองเส้นออกชั่วคราวก่อน
6. ถอดซ็อกเก็ตขั้วสายไฟของมอเตอร์ระบายน้ำออกมา (อยู่ด้านหลัง-ตอนล่างของพัดลม)
7. ดึงเฟรมพัดลมหม้อน้ำออกมาเลย
8. นำเฟรมพัดลมมาถอดใบพัด และถอดมอเตอร์ออก
9. ใส่ของใหม่ (มือสอง สีดำ) เข้าแทนที่
10. ตัดต่อสายไฟให้ถูกต้อง (ควรระวังขั้วบวก ลบ เพราะมีผลต่อทิศทางการหมุน) หากหมุนกลับทางทำให้การระบายอากาศไม่ได้ผล แล้วพันผ้าเทปให้เรียบร้อย
11. ใส่ทุกอย่างที่ถอดออกมากลับเข้าที่ตามเดิม
ข้อควรระวัง ในการใส่ท่อยางกลับเข้าไป ควรให้ท่อยางยกขึ้นสูงจากจานจ่ายประมาณ 2-3 นิ้ว เพราะถ้าท่อยางสัมผัสกับจานจ่าย จะทำให้ฝาครอบจานจ่ายที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน จะเปลี่ยนเป็นตัวนำทำให้เครื่องยนต์ดับไม่ทราบสาเหตุได้ ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้วจากช่างของศูนย์บริการที่ไม่มีความรู้
ระยะห่างดังภาพ