วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทดสอบการใช้เครื่องฉีดน้ำความดันสูงล้างห้องเครื่องยนต์

เคยสงสัยว่าถ้าเราใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าไปล้างขี้ฝุ่นที่จับเขรอะที่เครื่องยนต์จะทำให้เสียหาย หรือสตาร์ทติดหรือไม่

ก่อนทดลองจริง ได้เข้าไปค้นหาใน google ดูแล้ว มีหลายคนไม่แนะนำให้ทำแบบนั้น เขาแนะนำให้ใช้น้ำยาล้างเครื่องยนต์ ที่เป็นสเปรย์ ที่หาซื้อได้จากโลตัส หรือร้านประดับยนต์ทั่วไป ผมไปหาซื้อตามที่ว่า ไม่เห็นมีขาย

 แต่ที่น่าสนใจก็คือ น้ำยาล้างห้องเครื่องสูตรเชียงกง หาดูในยูทูปได้เลยครับ

ที่นำมาเสนอในครั้งนี้เป็นการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ขนาด 120 บาร์ ฉีดเข้าไปในห้องเครื่อง เมื่อฉีดเสร็จ สตาร์ทเครื่อง ครั้งเดียวติดเลย น่าประหลาดใจยิ่งนัก

เมื่อติดแล้วก็ให้ทำงานจนกระทั่งเครื่องร้อน (เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะสตาร์ทไม่ติด) และไม่ต้องใช้เครื่องเป่าลมไล่น้ำเพราะว่าไม่มีเครื่อง

แต่ก่อนฉีดน้ำผมได้ปิดจานจ่าย คาร์บูฯ และกรองอากาศ ปิดขั้วหัวเทียนด้วยถุงพลาสติกนะครับ

ดูภาพเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณา แต่คนที่ไม่รู้ ไม่ชำนาญ และจำเป็นต้องใช้รถโดยด่วน ไม่ควรทำตามนะครับ



วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีคาร์ เปลี่ยนปั๊มน้ำมัน

การส่งน้ำมันจากถังใต้ท้องรถมายังเครื่องยนต์ ในรถรุ่นใหม่จะใส่ มอเตอร์ปั๊มเอาไว้ภายในถังน้ำมันเลย ช่างจะเรียกว่า ปั๊มติ๊ก ภาษาอังกฤษเรียกว่า fuel pump ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า มักเกิดปัญหาบ่อย ทั้งระบบไฟฟ้าและตัวปั๊มเอง แต่รถยนต์รุ่นเก่าจะใช้หลักการทางกลไกการหมุนของเครื่องยนต์ไปขับไดอะแฟรมให้โยกขึ้นลง เหมือนกับปั๊มคนโยกของชาวบ้านในชนบท ดังนั้นการวางของตัวปั๊มจะไปวางติดกับเครื่องยนต์

การเสียของปั๊มแบบกลไก จะเสียเฉพาะแผ่นไดอะแฟรมภายในตัวปั๊ม ซึ่งถ้ารั่วจะทำให้การดูดน้ำมันไม่ได้ เครื่องยนต์ดับ ปกติเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันมักไม่ค่อยเสีย แต่รถผมใช้แกสมาสักระยะหนึ่ง การขับน้ำมันจึงถูกปิดกั้นด้วยโซลินอยด์วาล์ว ทำให้เมื่อมีแรงดันน้ำมันมากมันจะย้อนกลับไปลงถัง

มาดูภาพปั๊มน้ำมันของเครื่อง 4G15 กันก่อน



ภาพตามไดอะแกรมของคู่มือครับ หมายเลข 5 เขาเรียกว่า Insulator หรือฉนวน





มาเริ่มการถอดกันเลย

  • ถอดสายยางท่อน้ำมัน 4 เส้น ออก จำให้ได้ด้วยนะ แนะนำให้ถ่ายรูปเอาไว้ก่อนถอด เวลาใส่กลับจะได้ใส่ถูก ที่วงกลมสีเหลือง ปกติจะต่อท่อด้านล่าง แต่ของผมเสียน้ำมันจะไหลออกทางนี้จึงบีบพับเอาไว้ เดิมเป็นท่อ Drain ทิ้ง


  • จากภาพด้านบนจะมีน็อตยึดปั๊ม 2 ตัว แต่มองไม่เห็น (จะอยู่ด้านใต้ฐาน) ใช้ประแจเบอร์ 12 ขันออก ควรใช้ประแจบล็อกต่อด้าม และอีกตัวหนึ่งต้องใช้บล็อกชนิดยาวของยี่ห้อ Force 
  • เมื่อถอดน็อตออกมาแล้ว ก็ให้ดึงปั๊มออกมา พร้อมกับปะเก็นชนิดหนา อาจเป็นไฟเบอร์เพราะหนาและเบา ระวังอย่าให้แตกหรือหัก


 

  • ปะเก็นไฟเบอร์ชนิดหนา นำมาตัดปะเก็น 2 แผ่น ดังภาพด้านล่าง



  • ในคู่มือบอกว่าจะต้องมีปะเก็นชนิดบางประกบหน้า หลังสองด้าน จึงต้องตัดปะเก็น เพราะที่ศูนย์ไม่มีขาย ซื้อแผ่นปะเก็นมาตัดเอาเองก็ได้
  • เมื่อตัดแล้ว ให้ทากาวซีลปะเก็น ดังภาพ (อยู่ในกล่อง) เวลาซื้อบอกร้านว่า กาวทาปะเก็น ให้ทากาวที่ปะเก็นทั้ง 2 ด้าน รวมทั้งทาปะเก็นหนาและที่ลูกศรตัวปั๊มด้วย


  • ประกอบชุดปั๊มกับปะเก็นกลับให้อยู่ในสภาพเดิม
  • นำไปติดตั้งกลับที่เดิม
  • ใส่สายยางกลับ ยึดน็อตทุกตัวให้แน่น ระวังนี่คือสายน้ำมัน หากมีรั่วอาจเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้รถ ดังที่เป็นข่าว
หมายเหตุ
  • รถที่ติดแกส ควรตรวจสอบท่อน้ำมัน ท่อแกสอย่างรอบคอบ บ่อย ๆ หากท่อมีรอยแตกปริ ๆ บริเวณโคนสาย ควรเปลี่ยนสายทันที โดยถอดตัวอย่างสายไปด้วย ควรซื้อสายที่มีคุณภาพดี ทนความร้อนสูงด้วย

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีคาร์ รหัสเครื่องยนต์ 4G15 เปลี่ยนซีลฝาวาล์ว 129 บาท

ซีลฝาวาล์วในเครื่องยนต์โดยเฉพาะเครื่อง 4G15 ทำมาจากยาง บางคนจึงเรียกยางฝาวาล์ว เมื่อใช้งานนาน ๆ จะได้รับความร้อนสะสมจากเครื่องยนต์ทำให้คุณสมบัติของยางที่นิ่มนวลกลับแข็งกระด้าง หรือเรียกว่ายางตายนั่นเอง

คุณสมบัติในการปิดกั้นน้ำมันเครื่องไม่ให้ออกมา จึงไม่ทำงานตามหน้าที่ของมัน ปล่อยให้น้ำมันเครื่องเล็ดลอดออกมาบริเวณภายนอกเครื่อง เจ้าของรถจำเป็นต้องเติมน้ำมันเครื่องอยู่เรื่อย ๆ บางคนไม่ได้เคยเปิดฝากระโปรงด้วยตนเองเลย อาจทำให้น้ำมันเครื่องพร่อง เครื่องยนต์ร้อน กลไกภายในจะพังในที่สุด

วันนี้ขอนำเสนอการเปลี่ยนซีลฝาวาล์ว ที่ทำได้ง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นช่างมาก่อน ด้วยงบประมาณ 129 บาท ของแท้เบิกห้างซะด้วย

มาดูภาพของน้ำมันเครื่องซึมออกมาสะสมบริเวณด้านข้างเครื่องกันก่อนครับ


เมื่อเห็นสภาพเครื่องยนต์แล้ว ให้ไปเปิดฝากระโปรงรถของท่านดูเลย หากเป็นแบบนี้ให้อ่าน และดูภาพจนแล้วออกไปซื้ออะไหล่ที่ศูนย์บริการ บอกว่า ซื้อซีลฝาวาล์ว หรือยางฝาวาล์ว รหัสเครื่องยนต์ที่ติดอยู่บริเวณห้องเครื่อง เช่น 4G15 เป็นต้น แล้วซื้อประแจบล็อกชุด และไขควงชุดหนึ่งชุด

ขั้นตอนการถอด มีดังนี้


  • ถอดชุดฝาครอบกรองคาร์บิวออก ตามลูกศร


  • ใช้ประแจเบอร์ 13 ถอดน็อตที่ยึดติดตัวกรองอากาศ ถอดสายยาง 2 เส้นด้านบนของภาพ ถอดปลดสายยึดหัวเทียนออกจากร่อง โดยไม่ต้องดึงสายหัวเทียนออกก็ได้
  • ที่ลูกศรสีเหลืองใช้ประแจเบอร์ 10 ถอดออกทั้ง 6 ตัว 
  • ใช้ไขควงปากแบนแงะฝาปิดวาล์วออก




  • นำฝามาหงายขึ้นบน ใช้ไขควงปากแบนงัดยางเก่าออกมา




  • เตรียมยางอะไหล่มาเทียบดูการวาง เพราะใส่ผิดด้านจะไม่ได้ เพราะด้านในจะมีมุมมน ด้านบนจะเป็นเหลี่ยม ให้ใส่กลับเข้าไป บีบอัดด้วยมือให้เข้าร่องเหมือนเดิม
  • ทากาวปะเก็นรอบ ๆ ยาง




  • ประกอบกลับโดยขันน็อตเข้าทั้ง 6 ตัว พยายามขันวนไปมาทั้ง 6 ตัว อย่าขันให้แน่นตัวใดตัวหนึ่งก่อน 



  • ใส่สายยาง 2 เส้น น็อตยึดกรองอากาศ สายหัวเทียน
  • ประกอบกรองอากาศเข้าที่เดิม
  • ลองสตาร์ทรถ ดูการซึมของนำ้มันยังมีหรือไม่
หมายเหตุ
  • เมื่อประกอบเสร็จ แนะนำให้ทำความสะอาดคราบน้ำมันออกให้หมด จะได้เห็นการซึมของน้ำมันเครื่องได้โดยง่าย

มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีคาร์ เปลี่ยนหน้ากากแอร์ช่องกลาง และวิทยุเทป

หน้ากากแอร์ช่องกลางมีจุดอ่อนที่กรอบ แตกหักง่าย บางคันก็ตัวปรับทิศทางลมให้ไปด้านซ้าย ขวาหมุนฟรี อิสระ ควบคุมไม่ได้ บางคันตัวปรับขึ้นลงไม่ได้ มันหลวม และสุดท้ายคือตัวยึดวิทยุเทปแตกหลุดเป็นชิ้น ๆ

มันเป็นจุดอ่อนของรถรุ่นนี้ จะเห็นว่ามีการโพสต์สอบถาม หาซื้อกันในอินเทอร์เน็ตกันบ่อย ๆ อะไหล่ก็ยังคงหาได้ แต่ราคาจะแพงเอาการกับเพียงกรอบพลาสติกเท่านั้น

สำหรับคันนี้ที่จะนำมาให้ดู สำหรับการเปลี่ยนครั้งนี้มีอาการครบทุกด้านดังข้างบน จึงขอซ่อมเสียคราวเดียวกันเลย





  • ดูภาพที่แตกก่อน

 ลำดับขั้นตอนการถอดเปลี่ยนก็หลายขั้นตอนพอสมควร ดังนี้

  • ต้องถอดแผ่นกรอบพลาสติกที่อยู่ด้านล่างของพวงมาลัยก่อน เพราะมีตัวปรับแอร์ไปผูกโยงเอาไว้ด้านในที่เรามองไม่เห็น ต้องเปิดกรอบนี้เพื่อให้มองเห็นและปลดออกมาได้ จึงจะถอดหน้ากากออกมาได้

  • ถอดสกรูบริเวณลำโพงหน้าด้านคนขับ



    • สกรูด้านล่างซ้ายพวงมาลัย 2 ตัว


    • ถอดที่เก็บของ โดยการใช้ไขควงแบนดันให้หมุดพลาสติกหลุดออกมา ดังภาพ


    •  เริ่มถอดสกรูที่หน้ากาก ต้องมองจากด้านล่าง จำนวน 2 ตัว



    • สลักสายปรับแอร์ เราต้องมองจากด้านล่างของพวงมาลัยจะเห็นตรงลูกศรชี้ ให้ดึงถอดออกมาได้เลย



    • หลังจากนั้นจึงใช้ไขควงปากแบนงัดกรอบหน้ากากออกมาเบา ๆ อย่าลืมปลดสายไฟที่ต่อกับสวิทช์ฉุกเฉินออกด้วย การปลดควรบีบที่หนีบให้ปลดล็อกออก อย่าใช้กำลังอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นจะทำให้ซอกเก็ตแตกได้



    • ปกติกรอบหน้ากากจะเป็นชิ้นเดียวยึดติดกับวิทยุเทปและถาดวางแก้ว แต่ของผมมันแตกหมดแล้วจึงดึงเทปออกมาได้เลย



    • เมื่อเทปออกมาแล้วจะเห็นสายไฟ มีทั้งหมด 4 ชุด คือ สายเสียงไปหาลำโพง ศรแดงด้านขวา สายไฟเพาเวอร์ ศรแดงด้านซ้าย สายอากาศ และสายกราวด์ การถอดก็ต้องบีบด้านท้ายซ๊อกเก็ตเช่นกัน



    • ถอดสายอากาศโดยการดึงออกให้แยกจากกัน



    • สายกราวด์ เป็นไฟขั้วลบ ใช้ไขควงแฉกขันออก (อยู่ลึกด้านใน) 
    • ให้สังเกตรูด้านล่างของสกรูยึดสาย ตรงตำแหน่งนั้นจะเป็นรูสำหรับใส่เทปด้านท้ายเข้าไปใส่ในรูเพื่อไม่ให้กรอบรับน้ำหนักจากวิทยุเทปนั่นเอง เวลาใส่กลับจะต้องแน่ใจ



    • ถอดสกรูที่ยึดถาดวางแก้วน้ำ 2 ตัว ดังภาพ



    • ถัดจากนั้นเอากรอบหน้ากากแอร์ออกมาทั้งหมด ถอดสวิทช์ไฟฉุกเฉินออก โดยการถอดสกรู 2 ด้านดังภาพ




    • นำสวิทช์ฉุกเฉินมาประกอบเข้ากับกรอบหน้ากากที่ซื้อมาใหม่ ยึดสกรูเรียบร้อย
    • นำกล่องที่อยู่เหนือถาด (ไม่มีในภาพ) ขันสกรูเข้ากับกรอบหน้ากาก ต้องขันสกรูจากด้านในยึดติดกับกรอบ
    • การสอดวิทยุเทปเข้ากับกรอบใหม่ เราต้องพับเหล็กบางที่ยึดระหว่างวิทยุเทปกับกรอบให้ราบเรียบกับเทปก่อน เมื่อใส่เทปเข้าไปในกรอบได้แล้ว ให้พับเหล็กยึดให้ล็อกกับกรอบใหม่

    เมื่อประกอบถาดวางน้ำ กล่องบนถาด และวิทยุเทปเข้ากับกรอบหน้ากากแอร์เสร็จแล้ว ให้เตรียมนำไปติดกลับที่เดิม โดยมีลำดับดังนี้
    • ต่อสายกราวด์เข้าที่เดิม
    • ต่อสายอากาศ
    • ต่อเสียบสายไฟเพาเวอร์
    • เสียบสายสัญญาณเสียง
    • สอดหน้ากากเข้าไปในช่องแอร์เดิม โดยกรอบจะมีสายควบคุมการเปิด ปรับแอร์ (รูปที่ 6) ใส่ในช่องว่างด้านบนเข้าไปก่อน
    • แน่ใจว่าท้ายของวิทยุเทปได้สอดเข้าในรูแล้ว
    • ค่อย ๆ กดกรอบให้แนบสนิททุก ๆ มุม ซึ่งจะมีหมุดยึดติดกับชุดคอนโซลอัตโนมัติหากเข้าตำแหน่งพอดี
    • เอาสายควบคุมแอร์ ใส่กับชุดควบคุมที่กล่องแอร์ด้านใน (ภาพที่ 6)
    • ประกอบชุดพลาสติกใต้พวงมาลัยกลับที่เดิม
    • ทดลองเปิดวิทยุฟัง ทดสอบลำโพง ซ้ายขวา หน้าหลัง
    หมายเหตุ 
    กรอบหน้ากากของวิทยุเทปจะต้องอยู่ด้านนอกโผล่ออกมามากพอสมควร หากอยู่ด้านในจะปิดกรอบไม่ลง อย่าใช้กำลัง


    Mitsubishi Lancer E-Car เกียร์หลวม เข้าเกียร์ยาก เกียร์หลุดแก้อย่างไร

    รถยนต์คันนี้มีปัญหาการเข้าเกียร์ถอยหลังตั้งแต่ออกรถใหม่ ๆ อาการที่เกิดขึ้น คือ เข้าเกียร์ R ไม่ค่อยได้ เข้าได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เมื่อปล่อยคลัชจะมีเสียงการขบเฟืองดังขึ้น ต้องเข้าเกียร์ย้ำเป็นครั้งที่สอง แต่เมื่อเราชินกับมันจึงต้องเข้าเกียร์ซ้ำอยู่เรื่อย ๆ

    ปัญหาที่หนักจนจำเป็นต้องซ่อมในครั้งนี้คือ เข้าเกียร์หนึ่งไปติดล็อก มีเสียงเหล็กกลไกภายในคันเกียร์ไปกระทบกับโครงอะไรบางอย่าง และเกียร์อื่น ๆ มีเสียงดัง คันโยกมีระยะห่างเกินไป หรือหลวม ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว ช่างที่ศูนย์บริการเขาเห็นผิดปกติเขาจัดการซ่อมให้ ทำให้การเข้าเกียร์ง่ายขึ้น แต่ไม่รู้ว่าเขาซ่อมเปลี่ยนอะไรบ้าง

    เมื่อได้เริ่มซื้อเครื่องมือมาศึกษา แล้วซ่อมซะเอง จึงขอนำผลการซ่อมมาเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ที่ใช้รถรุ่นเดียวกันซ่อมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการซ่อมที่ไม่ยากนัก เครื่องมือก็ใช้เพียงไขควงกับประแจเท่านั้น ลำดับขั้นการถอดเพื่อซ่อมมีดังนี้

    การถอดครอบคันเกียร์เริ่มจากถอดสกรูดังภาพ


    • สกรูภายในกล่องเก็บสัมภาระหลังเบรคมือ จำนวน 2 ตัว ใช้ไขควงแฉก



    • ถอดสกรูยึดฐานเบรกมือ ถอดออกแล้วให้ใช้ไขควงปากแบนเปิดชิ้นส่วนฝานั้นออก และสามารถดึงกรอบพลาสติกครอบคันเบรคออกด้วย

    • เมื่อเอากรอบพลาสติกออก จะเห็นสกรูยึดกรอบคันเกียร์ ให้ถอดสกรู 2 ตัวตามลูกศร

    • ใช้ไขควงแบนถอดฝาปิดออก ดังภาพ

    • เมื่อเปิดฝาออกจะเห็นสกรูอีก 2 ตัวให้ถอดออก

    • ถอดสกรูยึดกรอบคันเกียร์ที่อยู่ด้านในทั้งด้านซ้ายและขวาออกด้วย


    • หัวคันเกียร์มันมีการยึดด้วยเกลียว เพียงเราหมุนทวนเข็มนาฬิกาหลาย ๆ รอบ มันจะหลุดออกมา

    • เมื่อถอดทุกอย่างออกแล้วจึงค่อย ๆ ดึงกรอบปิดคันเกียร์ขึ้นมา จะเห็นโครงสร้างของคันเกียร์ ดังภาพ

    • จากภาพจะเห็นน็อตตรงลูกศรชี้ มีการคลายตัวจนเกือบหลุดออกมา ถ้าหากปล่อยไว้อีกหน่อย มันจะหลุดออกมาเมื่อเราเข้าเกียร์อาจทำให้เข้าเกียร์ไม่ได้ หากมีปัญหาตอนจราจรเร่งด่วน หรือตอนติดไฟแดงแล้วเกียร์หลุดออกมาจะปลดเกียร์ว่างก็ไม่ได้ จะไปหน้าที่เกียร์อาจจะค้างอยู่ที่เกียร์ 4 แล้วจะทำอย่างไร ขอให้เพื่อน ๆ จงใส่ใจ ดูแลระบบเกียร์รถของท่านด้วยนะครับ อย่าได้ประมาท
    • การแก้ปัญหาจากน็อตหลวมก็เพียงใช้ประแจบล็อก หรือประแจปากตายขันกลับให้แน่นเท่านั้น
    • การประกอบกลับก็ให้ทำจากด้านล่างขึ้นไปด้านบนนะครับ

    วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

    ชาร์จน้ำยาทำความเย็น R-12 แอร์รถยนต์

    ในตอนที่แล้ว ได้เขียนถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์ของระบบปรับอากาศรถยนต์ Mitsubishi Lancer E-car ปี 1993 โดยเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ ไดร์เออร์ สายท่อน้ำยา ท่อด้านดูด และด้านอัด แต่ยังค้างไม่ได้เขียนการชาร์จน้ำยาเอาไว้ ในครั้งนี้จึงนำมาเขียนต่อครับ

    ขั้นตอนการชาร์จน้ำยาเข้าสู่ระบบมี 2 ขั้นตอนสำคัญ ๆ ได้แก่
    1. ขั้นตอนการทำสูญญากาศ หรือการแว็คคั่ม (vacuum)
    2. การอัดน้ำยาเข้าสู่ระบบ

    ขั้นตอนการแว็คคั่ม เป็นการทำให้ระบบเป็นสูญญากาศ ดูดเอาความชื้น และอากาศออกจากระบบให้หมด

    เครื่องมือที่ใช้ 

    1. เครื่องแว็คคั่ม
    2. สายเมนิโฟลเกจ และวาวล์ปิดเปิด
    รูปแบบการต่อสายเมนิโฟลเกจ

    • ใช้สายสีเหลืองต่อกับเกจที่ขั้วกลาง ปลายสายต่อกับเครื่องแว็คคั่ม
    • สายสีน้ำเงินปลายสายด้านหนึ่งต้องต่อกับเกจด้าน Low (เกจสีน้ำเงิน) ปลายสายอีกด้านหนึ่งต่อกับ Service valve ด้านดูด (Suction) ซึ่งจะอยู่ใกล้คอมเพรสเซอร์
    • สายสีแดง เป็นสายด้าน Hi pressure ปลายด้านหนึ่งจะต่อกับเกจสีแดง ปลายสายอีกด้านหนึ่งให้ต่อกับ Service valve ด้าน Discharge ดังภาพ



    การปิดวาล์วทั้ง 2 เกจ ให้หมุนตามเข็มนาฬิกา
    การเปิดวาล์วทั้งสองเกจ ให้หมุนทวนเข็มนาฬิกา

    ขั้นตอนการแว็คคั่ม
    1. เปิดวาล์วทั้งด้าน Low และ Hi ให้มากที่สุด
    2. เปิดสวิทช์เครื่องแว็คคั่ม
    3. ให้สังเกตเกจทางด้าน Low (สีน้ำเงิน) เข็มจะหมุนลงมา (ทวนเข็มนาฬิกา) เรื่อย ๆ จนถึง -29.99 ซึ่งต้องรอขั้นต่ำครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง
    4. ปิดวาล์วทั้งสองด้านจนแน่นสนิท
    5. ปิดสวิทช์ดับเครื่องแว็คคั่ม
    ขั้นตอนการเติมน้ำมันคอมเพรสเซอร์เข้าสู่ระบบ
    • ในกรณีที่ไม่ได้ใส่น้ำมันคอมเพรสเซอร์เข้าไปในขณะใส่คอมเพรสเซอร์ เราสามารถใส่น้ำมันในตอนนี้ได้ โดยนำน้ำมันหยอดเข้าไปในสายสีเหลือง
    • ให้ถอดสายสีเหลืองจากเครื่องแว็คคั่มออกมา แล้วจุ่มลงไปในขวดน้ำมันคอมเพรสเซอร์
    • ค่อย ๆ หมุนเปิดวาล์วที่เกจสีน้ำเงิน จะห็นว่าน้ำมันจะไหลเข้าสู่สาย (ปริมาณน้ำมันฯ ที่เนมเพลทระบุคือ 210 CC) เสร็จแล้วปิดวาล์วสีน้ำเงินให้สนิท
    ขั้นตอนการชาร์จน้ำยาเข้าสู่ระบบ
    1. นำสายสีเหลืองที่เคยต่อกับเครื่องแว็คคั่ม มาต่อกับถังน้ำยา
    2. ค่อย ๆ หมุนวาล์วเปิดน้ำยา จากหัวถัง ไม่ต้องหมุนมาก
    3. การไล่อากาศออกจากท่อสีเหลือง เพื่อไม่ให้ความชื้นเข้าสู่ระบบ โดยการค่อย ๆ หมุนเกลียวปลายสายสีเหลือง (ตรงเส้นกลาง) คลายออกให้อากาศออก สังเกตเสียงและของเหลวไหลออกมา แสดงว่าอากาศถูกไล่ออกจากท่อหมดแล้ว ให้หมุนกลับให้แน่น
    4. เปิดเกจสีน้ำเงินให้น้ำยาค่อย ๆ เข้าไปในระบบ ให้สังเกตเข็มจะสูงขึ้นมากกว่า 40 หรืออยู่ในช่วง 40-60 PSI ให้ปิด
    5. สตาร์ตเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ปรับความเย็นมากที่สุด ความเร็วลมมากที่สุด
    6. กลับมาที่เกจ สังเกตเห็นว่าเกจสีน้ำเงินจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่เกจสีแดงจะเพิ่มขึ้น
    7. ในขั้นตอนนี้ ให้ค่อย ๆ เปิดวาล์วเกจสีน้ำเงินให้น้ำยาเข้าไป ให้สังเกตการไหลของน้ำยาที่ช่องหลอดแก้ว เป็นฟอง และสังเกตที่หลอดแก้วที่ไดร์เออร์มีการไหลของฟองอากาศ ค่อย ๆ ผิดกันปิดและเปิด ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการเร่งเครื่องยนต์ ซึ่งเมื่อเร่งเครื่องยนต์เกจสีน้ำเงินด้านความดันต่ำจะลดลงเหลือ 20-30 PSI และความดันด้านสูง จะสูงที่ 150-170 PSI 
    8. จุดความเย็นที่พอดีของปริมาณน้ำยาตามที่ระบุในทฤษฎี คือ ความดันด้านต่ำจะอยู่ที่ 30 PSI และด้านความดันสูงจะอยู่ที่ 145-168 PSI (สำหรับน้ำยา R-12) และ 176-200 PSI (สำหรับน้ำยา 134A) แต่สำหรับแอร์บางยี่ห้อจะเขียนปริมาณเอาไว้ในเนมเพลทที่ติดอยู่ที่รถยนต์นั้นเลย อาจใช้หน่วยวัดเป็นน้ำหนัก จึงจำเป็นต้องใช้ตาชั่ง ชั่งน้ำหนักในการเติม  บางสำนักบอกว่าให้ดูที่หลอดแก้วที่ไดร์เออร์จะต้องไม่มีฟองอากาศ เห็นแต่น้ำยาใส ๆ เคลื่อนที่
    9. เมื่อได้ความเย็นเต็มที่แล้ว ในขั้นตอนการปิดและถอดสาย ให้ทำดังนี้
    • ปิดถังน้ำยาให้สนิท
    • ปิดวาล์วเกจสีน้ำเงิน
    • ถอดสายสีน้ำเงินที่ต่อกับ Service valve ออก
    • ไปปิดสวิทช์แอร์ ดับเครื่องยนต์ รอสักครู่
    • ถอดสายสีแดงที่ต่อกับ Service valve ด้าน Hi ออก
    หากเติมน้ำยามากเกินไปจะมีผลอย่างไร
    • จะทำให้เกิดโหลดมากกว่าปกติเมื่อแอร์ทำงานอย่างเห็นได้ชัด เครื่องยนต์อาจเร่งไม่ขึ้นขณะแซง
    • Condenser ตัวระบายความร้อนหน้ารถอาจรั่ว หรือซึมได้ 
    • โอริง อาจจะรั่วหรือซึมได้ง่าย เนื่องจากมีความดันสูง
    • คอยด์เย็นหรืออีแวปเปอเรเตอร์ รั่ว ซึม
    • คอมเพรสเซอร์ร้อนจัด
    หากเติมน้ำยาน้อยเกินไปจะมีผลอย่างไร
    • ไดร์เออร์จะมีตัวเซ็นเซอร์น้ำยา หากน้ำยาน้อยมันจะตัดการทำงานชุดคลัชคอมเพรสเซอร์ไม่ให้ทำงาน
    • คอมเพรสเซอร์จะทำงานโดยไม่ตัด เพราะทำความเย็นไม่ถึงที่เราบิดตั้งเอาไว้ ทำให้คอมฯ ร้อนจนตัวเซ็นเซอร์ตัดในที่สุด
    • อุณหภูมิในตัวคาร์ไม่เย็นเท่าที่ควร

             

    วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

    ซ่อมเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ อีคาร์ ปี 93

    รถยนต์ก่อนปี 1995 จะใช้น้ำยา R-12 เพราะหลังจากนั้น โลกได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน เพราะน้ำยา R-12 มีสาร CFC มีผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อนได้ ดังนั้น น้ำยารุ่นนี้จึงหายากมากในปัจจุบัน เนื่องจากรถที่เก่า ๆ ลดน้อยลง ร้านซ่อมแอร์รถยนต์จึงมักไม่มีน้ำยานี้สำรองเอาไว้ สำหรับใครที่คิดว่าทำไมไม่เปลี่ยนเป็นน้ำยา R-134A ที่ใช้ในปัจจุบันก็อยากจะบอกว่า ท่านจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทุกชิ้นของระบบทำความเย็น เนื่องจากความดันที่ใช้ไม่เท่ากัน โอริงก็คนละชนิดกัน เมื่อต้องเปลี่ยนทุกชนิดจึงทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมาก

    เมื่อรถอีคาร์คู่ใจคอมเพรสเซอร์เสีย จึงเลยถือโอกาสซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ และน้ำยามาซ่อมเองซะเลย น้ำยาที่เหลือเอาไว้สำรองไว้ใช้ได้ตลอดไป และไว้ซ่อมให้เพื่อน ๆ ได้หลายปี

    หากท่านอยากซ่อมเอง อุปกรณ์ที่ต้องมีสำหรับงานแอร์รถยนต์ ได้แก่ แมนิโฟลด์เกจ ซัคชั่น (เครื่องทำสูญญากาศ) น้ำยา R-12 น้ำมันคอมเพรสเซอร์ ส่วนที่ชำรุด เสียหายก็ซื้อมาซ่อมเปลี่ยนใหม่ ได้แก่ คอมเพรสเซอร์ (ของเชียงกง) สายท่อกลาง (discharge) ท่อใหญ่ (suction) และ ไดรเออร์ รวมแล้วก็หลายพันบาทอยู่เหมือนกัน แต่เห็นเพื่อนบางคนไปให้ร้านทำให้ โดนค่าใช้จ่ายเข้าไป หนึ่งหมื่นห้าพันบาท เป็นคอมฯ บิวต์ ทำให้คิดว่าค่าแรงที่ต้องจ่ายไป เปลี่ยนเป็นค่าเครื่องมือจะดีกว่า

    อาการเสียเบื้องต้น คือ แอร์ไม่เย็น พัดลมเป่าลมร้อนออกมาอย่างเดียว เมื่อดูที่คอมเพรสเซอร์แล้วชุดแม่เหล็กไฟฟ้ายังทำงานดีอยู่ แต่พูลเลย์หมุนเสียศูนย์ คอมฯ มีเสียงดัง จึงวิเคราะห์ว่าคอมเพรสเซอร์ลูกสูบชำรุด

    อุปกรณ์ เครื่องมือที่ซื้อ ด้านล่าง ราคาเมื่อ พ.ย.ปี 2556 ดังนี้
    • น้ำยา R-12 ถังละ 1,950 บาท ผลิตในประเทศจีน ดู ๆ แล้วคุณภาพไม่น่าเชื่อถือ (ดูจากการสกรีนข้อความที่ตัวถัง)
    • เครื่องซัคชั่น 1,900 บาท 1/4 แรงม้า ชนิด 1 state
    • แมนิโฟลด์เกจ ราคา 700 บาท
    • น้ำมันคอมเพรสเซอร์ ขวดเล็ก 100 บาท
    • น้ำยาล้างหม้อน้ำ ล้างคอนเด็นเซอร์ ล้างอีแวบเปอเรเตอร์แอร์ 100 บาท
    • คอมเพรสเซอร์ มือสอง เชียงกง 2,300 บาท
    • ท่อกลาง 450 บาท 
    • ท่อใหญ่ 600 บาท
    • ไดรเออร์  200 บาท




    ขั้นตอนการถอดอะไหล่เพื่อเข้าถึงคอมเพรสเซอร์

    • ถอดน็อตชุดกรองอากาศ ดังลูกศรชี้


    • ถอดชุดลูกรอกและสายพานขับคอมเพรสเซอร์ โดยถอดคลายน็อตลูกศรล่างสุดก่อน แล้วคลายน็อตลูกศรชี้ลงให้หลวม จะทำให้สายพานหย่อน แล้วถอดสายพานออก 
    • ถอดสายน้ำมันตามลูกศรชี้สีแดงชี้ไปทางซ้ายออกด้วย มันกีดขวางต่อการถอดคอมฯ
    • ถอดขั้วต่อสายไฟคอมฯ ออก (ลูกศรสีเขียว) ด้วยการบีบที่ปลายเพื่อปลดล็อก




    • ต่อไปเป็นการถอดสายยาง ซึ่งเป็นสายน้ำมัน และสายลมตามลูกศรทั้งสีแดงและเขียว ต้องจำให้ดี ถ่ายรูปเอาไว้ดีที่สุด
    • เอาสายแมนิโฟลด์เกจ ด้านซ้าย (สีน้ำเงิน) ต่อเข้ากับท่อบริการด้านดูด แล้วหมุนวาล์วสีน้ำเงินเปิดเบา ๆ เพื่อเอาน้ำยาออก น้ำยาจะออกทางสายสีเหลือง (สายกลาง)





    • ถอดท่อน้ำยาทั้งด้านดูดและอัดออกมาด้วยประแจบล็อค
    • ถอดน็อตยึดคอมเพรสเซอร์จำนวน 3 ตัวออก





    • นำคอมเพรสเซอร์มาถอดเปลี่ยนสายไฟชุด Thermal Protector จากตัวเดิม ใส่แทนตัวที่ซื้อมาใหม่ Thermal Protector จะทำหน้าที่เป็นสวิทช์เมื่อคอมฯ มีความร้อนสูงจะตัดการทำงานของแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ให้มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก จึงต้องต่อแบบอนุกรมกับคอมฯ





    • นำสายไฟเดิมมาบัดกรีกับคอมตัวใหม่ ถ้าร้านที่ได้มาตรฐานจะใช้คีมบีบตัว connector และมีท่อหดเป็นฉนวนหุ้ม แต่ถ้าไม่มีก็ใช้หัวแร้งบัดกรีก็ได้ แล้วใช้เทปพันสายไฟยี่ห้อ 3M พันให้แน่น




    • ภาพด้านล่างเป็นการแสดงวิธีการถอด ปรับสายพานให้หลวมเพื่อถอดง่าย ๆ





    • ถอดน็อตสกรูอุปกรณ์ไดรเออร์ และสวิทช์ตรวจสอบน้ำยาออก สวิทช์ตัวนี้จะตรวจสอบว่าน้ำยาขาดหรือไม่  ปกติเมื่อเครื่องคอมฯ หมุน น้ำยาจะไหลผ่านเป็นฟองอากาศเห็นได้ที่หลอดแก้ว  สวิทช์ชุดนี้จะต่อแบบอนุกรม การถอดชุดสวิทช์โดยใช้ประแจเลื่อนถอดออกโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา



    • การถอดเปลี่ยนท่อทั้งท่อดูดและอัดทั้งสองก็ใช้ประแจบล็อกคลายออกมา ต้องถอดทั้งสองด้าน

    ในขั้นตอนการประกอบคอมเพรสเซอร์กลับ ก็ใช้วิธีทำย้อนกลับจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน ในขณะที่ถอดท่อน้ำยาออกมาแล้วควรใช้อุปกรณ์อุดท่อเข้าและท่อออกไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในท่อได้ 

    ก่อนการประกอบคอมเพรสเซอร์กลับจะต้องมีการถ่ายน้ำมันคอมเพรสเซอร์เก่าออกให้หมด เอาทิ้งไปเลยก็ได้ เพราะไม่แน่ใจว่าของเดิมเก็บเอาไว้นานแล้วยัง อาจเสื่อมแล้วก็ได้

    การใส่น้ำมันคอมเพรสเซอร์ใหม่กลับเข้าไป ในเนมเพลทเขาแนะนำชนิดเอาไว้ แต่ตอนที่เราซื้อเราต้องระบุว่าใช้กับ R-12 ปริมาณที่เขาระบุสำหรับรุ่นนี้คือ 130 CC (ท่อก็เช่นกันต้องระบุว่าใช้กับ R-12) การซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างต้องเอาตัวอย่างไปด้วยคนขายอาจให้ของไม่ตรงกับที่เราต้องการได้

    สำหรับขั้นตอนการทำสูญญากาศ และชาร์จน้ำยาจะได้นำมาเขียนในตอนที่ 2 ต่อไป


    สมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดนขโมย หายหรือไม่รู้ว่าวางที่ไหน ทำอย่างไร

    สมาร์ทโฟนตระกูล iPhone มีฟังก์ชั่น find my iPhone สำหรับค้นหาเมื่อโดนขโมย เอาไว้แจ้งตำรวจไปตามจับโจรได้ เราจะได้โทรศัพท์คืน หรือบางคนอาจลืมไม่รู้ว่าวางอยู่ที่ใด

    แต่สำหรับแอนดรอยด์แล้ว ในอดีตเราจะลำบากเพราะไม่มีฟังก์ชั่นหรือแอพพลิเคชั่นนี้  แต่ปัจจุบันมีฟังก์ชัน device manager สำหรับการติดตามง่าย ๆ ไม่ต้องดาวน์โหลดแอพฯ มีวิธีการจัดการดังนี้


    • ตอนซื้อเครื่องใหม่ ๆ ท่านต้องมีอีเมล์และลงทะเบียนที่ www.gmail.com ของ google ก่อนเพราะเราจะใช้ แอพพลิเคชันในการค้นหาของ google ซึ่งมันจะลิงค์ข้อมูลถึงกันและกัน
    • การเตรียมการด้วยการ ไปที่เมนู Setting (ตั้งค่า) > Security (ความปลอดภัย) > Device administrators (โปรแกรมควบคุมอุปกรณ์)ให้ดูว่า check box เป็นเครื่องหมายถูกที่ Android Device Manager (โปรแกรมจัดการอุปกรณ์) หรือไม่ ถ้ามีอยู่แล้วไม่ต้องทำอะไรแล้ว  ซึ่งในข้อความที่อธิบายเอาไว้ หมายถึง เราจะอนุญาตให้เครื่องของเราสามารถสั่งให้ส่งเสียง ล็อกเครื่อง และลบ ข้อมูลได้  โดยการสั่งควบคุมจากเว็บไซต์ที่ google ทำเอาไว้สำหรับให้เราควบคุม โดยที่เราเลือกหากไม่มีเครื่องหมายถูกด้านหลังข้อความนี้ ให้ท่านคลิกที่ข้อความนี้ แล้วให้เราเลือก Activate (เปิดการใช้งาน) แล้วมันจะเช็คบ็อกเป็นเครื่องหมายถูกให้เอง (แต่ถ้าเรากดซ้ำมันจะเปลี่ยนเป็น Deactivate (ปิดการใช้งาน) ซึ่งจะหมายถึง ไม่ยอมให้ใช้การล็อก หรือลบนั่นเอง)
    • ท่านต้องใช้ username password ของ gmail.com ที่ลงทะเบียนเอาไว้
    • หน้าตาของเว็บสำหรับแจ้งที่อยู่ของโทรศัพท์จะมีหน้าตาแบบนี้ครับ (เครื่องสมาร์ทโฟนของท่านจะต้องต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลานะครับ)


    เมนู ทั้งสามทำงาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
    • ทำให้ส่งเสียง หมายถึง โทรศัพท์จะมีเสียงดังเกิดขึ้น มันจะดังจนแบตเตอรี่หมด หรือจนเราสัมผัสหน้าจอ จึงจะหยุด
    • ล็อก หมายถึง เป็นการล็อกสมาร์ทโฟน ให้หน้าจอมืด ไม่ให้โจรใช้งานกดปุ่มใด ๆ ให้มันทำงานได้ ระบบจะให้ท่านใส่ รหัสผ่าน และให้ยืนยันรหัสผ่านซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องรหัสผ่านเดียวกับ gmail.com แต่ต้องจำเอาไว้เมื่อจะเปิดด้วยตัวเราที่เครื่อง เราต้องเอารหัสผ่านนี้ไปเปิดนั่นเอง (ถ้าไม่หายจริงอย่าได้ทดลองเมนูนี้เล่นนะ เพราะท่านอาจลืมรหัสผ่าน อาจใช้ไม่ได้ตลอดไป)
    • ลบ หมายถึง ลบข้อมูลที่เราใส่เพิ่มเข้าไปหลังจากที่เราซื้อเครื่องมา ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หมายเลขโทรศัพท์ในคอนแท็กซ์ลิสต์ ฯลฯ หรือเรียกว่า เป็นการ Factory reset นั่นเอง

    วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

    ซ่อมไดชาร์จ Mitsubishi Lancer E-car 93 เปลี่ยน แปรงถ่าน

    ไดชาร์จ ในภาษาช่าง มาจากคำว่า ไดนาโม ในอดีต ตอนเรียนช่างไฟฟ้า อาจารย์บอกว่า ไดนาโมมันเป็นแบบเก่า มันจะผลิตไฟกระแสตรงตั้งแต่เกิด แต่ปัจจุบันมันเกิดจากกระแสสลับก่อน แต่เมื่อเข้าอุปกรณ์ Rectifier มันจึงแปลงเป็นไฟกระแสตรง ไดชาร์จใช้สำหรับชาร์ตไฟกลับเข้าไปในแบตเตอรี่ไม่ให้ไฟหมด เร็คติไฟร์ ในรถยนต์เขาเรียกว่า regulator นอกจากมันจะทำหน้าที่แปลงจากไฟกระแสสลับเป็นกระแสตรงแล้ว ยังทำหน้าที่ควบคุมแรงดันไฟฟ้าไม่ให้เกินที่กำหนดด้วย แม้ว่าความเร็วรอบของเครื่องยนต์จะหมุนเป็น 3000-5000 รอบก็ตาม ภาษาช่างจึงเรียกว่า คัดเอาต์  จริง ๆ แล้วไดชาร์จภาษาทางการเขาเรียกว่า อัลเทอร์เนเทอร์ ครับ

    มาว่ากันถึงการเสียของไดชาร์จตัวที่ซ่อมกันดีกว่า สาเหตุที่ทราบว่าเสียแล้ว ก็เนื่องมาจากขับรถอยู่บนถนนดี ๆ มีอันต้องดับสนิท ไฟกระพริบฉุกเฉินก็ไม่ติด หากขับรถกลางคืนจะอันตรายมาก ความเชื่อในเรื่องการช่วยกันเข็นให้สตาร์ตติดแล้วขับไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ใกล้ ๆ บ้านจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วหากเป็นกรณีนี้ เพราะอุปกรณ์ในรถยนต์ยุคใหม่จะทำงานด้วยไฟฟ้า เช่น ชุด ECU, Brake ABS, Solenoid Gas, และปั๊มติ๊ก เพราะมันใช้ไฟฟ้าทั้งนั้น หากไดชาร์จยังทำงานอยู่แม้ว่าแบตฯ จะหมดไฟก็ตาม แต่ไฟจากไดชาร์จมันส่งไปเลี้ยงอุปกรณ์ดังกล่าวได้ แต่หากว่าไดชาร์จเสียพร้อมกับแบตฯ หมด ไฟจึงไม่สามารถส่งไปเลี้ยงอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิคส์ได้ จึงดับเท่านั้นเอง ในครั้งนี้จึงเขียนมาบอกเพื่อเป็นอุทาหรณ์ ให้เพื่อน ๆ ตระหนักกันด้วยครับ

    ไดชาร์จตัวนี้ยังไม่เคยเสีย ใช้มาได้ระยะ 315,000+ กม. เป็นเวลา 20 ปี ทำไมถึงใช้ได้นานขนาดนี้ ถ้าของใครเสียเร็วกว่านี้ขอถามว่า ท่านเพิ่มขนาดแบตเตอรี่ใหญ่กว่าเดิมไหม ท่านติดตั้งเครื่องเสียงเพิ่มขึ้น ท่านต่อพ่วงมอเตอร์ระบายน้ำร้อนขนานกับมอเตอร์แอร์หรือไม่ เพราะนั่นมันคือภาระ (load) ให้การทำงานของไดชาร์จมากขึ้น ทำให้เสื่อมเร็ว

    วิธีการทดสอบว่าไดชาร์จยังทำงานอยู่หรือไม่ โดยการใช้มิเตอร์ไฟฟ้าวัดแรงดันไฟฟ้าในขณะที่ไม่ติดเครื่องกับขณะติดเครื่องเป็นอย่างไร หรือบางคนอาจใช้วิธีสตาร์ตให้ติดแล้วปลดขั้วลบออกหากดับแสดงว่าเสีย (ผมยังไม่ได้ทดลอง)


    ภาพที่ 1 แรงดันไฟขณะเครื่องยังไม่สตาร์ต วัดได้ 12.38 โวลต์


    ภาพที่ 2 แรงดันไฟฟ้าขณะเครื่องยนต์เดินเบา วัดได้ 13.94

    แต่เมื่อเราเปิดให้โหลดทำงานมันจะลดลงบ้างเล็กน้อย ไฟที่สูงขึ้นนี้จะไปชาร์ตเข้าไปในแบตเตอรี่ ดังนั้น หากท่านสตาร์ตรถแล้ววัดไฟได้เท่าเดิมนั่นคือ แสดงให้เห็นว่าไดชาร์จของท่านเสียแล้ว

    ขั้นตอนการเปลี่ยน แปลงถ่านไดชาร์จ จะต้องถอดสิ่งกีดขวางการเข้าถึงออกหลายสิ่ง มีดังนี้

    1. ถอดกรองอากาศออก ทั้งสายยาง คลิปหนีบ  และน็อตจำนวน 4 จุด ดังภาพ



    2. ถอดมอเตอร์พัดลมระบายความร้อนคอนเด็นเซอร์ระบบแอร์ โดยถอดน็อต 2 ตัว และซ็อกเก็ตขั้วไฟ ดังภาพ


    3. ถอดน็อตแผ่นเหล็กปิดฝาเครื่อง จำนวนน็อต 6 ตัว ดังภาพ



    4. ถอดขายึดไดชาร์จด้านที่ปรับสายพานได้ ด้วยการขันน็อตออก 2 ตัว เมื่อออกแล้วให้โยกไดชาร์จเพื่อปลดสายพานออก


    5. ถอดขายึดไดชาร์จ น็อตที่ยึดด้านใน และถอดสายไฟออกทุกขั้ว จำขั้วให้ได้ หรือถ่ายรูปเก็บเอาไว้ก็ได้


    6. เอาไดชาร์จไปถอดออกเป็นชิ้น ๆ ได้ 2 ส่วน โดยถอดน็อด 3 ตัว ดังภาพ การถอดตัวนี้ต้องใช้ไขควงกระแทกตอกเบา ๆ ก่อนนะครับ จึงจะออก


    7. ถอดน็อตด้านท้าย ดังภาพ


    8. ใช้ค้อนตอกเบา ๆ เพื่อแยกออกเป็น 2 ชิ้น เมื่อแยกได้แล้ว ถอดน็อตสกรูตัวยึดแปรงถ่านกับน็อตยึดเร็กกูเลเทอร์ออกมา ดังภาพ (อาจต้องใช้ไขควงกระแทก)


    9. ค่อย ๆ ถอดชุดแปลงถ่านออก ด้านท้ายจะมีตัวปิดสายไฟยึดแปลงถ่าน ให้เอาออกจะเห็นรอยบัดกรี ให้เอาหัวแร้งบัดกรีสายแปรงถ่านออกมา ไปซื้อที่ร้านขายอะไหล่ยนต์ หรือไฟฟ้าก็ได้ ต้องเอาขนาดไปเปรียบเทียบนะครับ  ความยาวของแปรงถ่านควรไม่น้อยกว่า 6 ม.ม. ในกรณีของผมสายไฟแปรงถ่านไปขูดเอาหน้าสัมผัสของโรเตอร์ที่เป็นทองแดงสึกหรอ เพราะแปรงถ่านสั้นมากกว่า 5 ม.ม.


    10. หากหน้าสัมผัส (ของคอมมิวเตเตอร์ เป็นศัพท์ของไดนาโมนะครับ ส่วนตัวนี้เขาเรียกว่าอะไรจำไม่ได้แล้ว) สึกหรอมากอาจใช้กระดาษทรายชนิดขัดเหล็กขัดออกมาให้เห็นทองแดงเสมอกัน (ของผมยังมีร่องด้านล่าง)


    11. เมื่อบัดกรีแปรงถ่านกลับเข้าเหมือนเดิม จะลำบากในการใส่โรเตอร์กลับเข้าไปเพราะว่า มีแปรงถ่านโผล่อยู่ จึงสังเกตเห็นมีรูอยู่ใกล้ ๆ ก็ได้แนวทาง ต้องกดให้แปรงถ่านเข้าไปข้างในแล้วใช้ลวดสอดมาจากฝาท้ายปิดแปรงถ่านไม่ให้โผล่  เมื่อใส่โรเตอร์ได้แล้ว จึงค่อยดึงลวดออก ดังภาพ


    ลวดมองจากด้านใน


    ลวดมองจากด้านบน


    การประกอบกลับก็ใช้เทคนิคเช่นเดิมนะครับ คือการทำย้อนกลับ ระมัดระวังเรื่องน็อตสกรูเหลือนะครับ ต้องเก็บอะไหล่ น็อตสกรูที่ถอดออกมาให้เรียบร้อยนะครับ

    บทสรุป ผลการซ่อมไดชาร์จครั้งนี้ วัดไฟฟ้าได้ตามภาพ 2 ภาพแรกนะครับ  สรุปว่าใช้ได้ การซ่อมเปลี่ยนแปรงถ่านไดชาร์จนั้น ช่างทั่วไปเขามักเปลี่ยนลูกใหม่ให้ หรือบางคนอาจจะซื้อของเชียงกงมาเปลี่ยนเพราะทำได้รวดเร็วกว่า แต่เมื่อพิจารณาของการเสียแล้วมีสิ่งที่จะเสียเพียงไม่กี่อย่าง เช่น แปรงถ่าน เร็คกูเลเตอร์ หน้าสัมผัส เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วขดลวดทองแดงจะไม่ค่อยเสีย หรือไหม้เลย และผมยังเชื่อว่า เนื้องทองแดงในอดีตมีคุณภาพสูงกว่าปัจจุบัน  ลองพิจารณาดูนะครับ การซ่อมครั้งนี้ใช้แปรงถ่านเพียง 80 บาทเท่านั้น สุดคุ้ม

    comment from facebook