วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอน 3 การเปลี่ยนหัวเทียนรถยนต์



สำหรับผู้ที่มีรถยนต์ เมื่อมีปัญหาด้านเครื่องยนต์เล็ก ๆ น้อย ๆ มักจะใช้บริการของศูนย์ซ่อมของตัวแทนจำหน่าย เมื่อล่วงเลยระยะหมดประกันหลายคนขอไปใช้บริการจากอู่ซ่อมข้างนอก โดยพยายามเสาะแสวงอู่ที่ฝีมือดี ราคาที่ย่อมเยา สมเหตุสมผล ผมเองได้พบพี่คนหนึ่งที่มีรถรับจ้าง เขามักจะดูแลรักษารถด้วยตนเองเสมอ ไม่ว่าจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทำสี ตอนนี้อายุรถของเขามากกว่า 25 ปี ยังขับรับจ้างได้อยู่อีกและไม่โทรมด้วย และเคยเห็น อาจารย์ ดร. ผู้หญิงที่จบจากอเมริกา ดูแลรักษารวมทั้งซ่อมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วยตนเอง แกเล่าว่า เริ่มดูแลรักษารถด้วยตนเองตั้งแต่เรียนอยู่ที่อเมริกา เพราะที่นั่นค่าแรงงานราคาแพงมาก เขามักจะ DIY กันเยอะ เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ชอบทำด้วยตนเองถ้ามีเวลาว่าง

ผมจึงเกิดมีความคิดอยากทำด้วยตนเองบ้าง เพราะตอนไปใช้บริการจากอู่ซ่อมรถ มักจะคอยดูวิธีการทำ พยายามสอบถามเอาบ้าง หรือศึกษาจากตำราบ้าง เมื่อรถมีปัญหาจึงสามารถเอาตัวรอดนำรถกลับถึงบ้านได้

ผมมีรถ Mitsubishi รุ่น Lancer E-Car ปี 1993 ปัญหาที่เกิดครั้งแรกคือ หม้อน้ำเดือด เข็มความร้อนเต็มเสกล ทั้งที่ตอนขับจะดูเข็มอยู่เรื่อย ๆ สังเกตุเห็นผิดปรกติเข็มสูงเกินครึ่ง ก่อนถึงบ้าน ประมาณ 10 กม. ฝืนขับต่อ แต่เครื่องมาดับก่อนถึงบ้านไม่ถึง 1 กม. ต้องจอดรอให้เครื่องเย็น จากนั้นค่อยเปิดเติมน้ำที่หม้อน้ำ สตาร์ตขับต่อไปได้ เมื่อเข้าศูนย์ช่างถอดวาล์วน้ำมาต้มนำ้ดูข้างนอก ปรากฏว่าสปริงไม่ยอมยืดออกมา แสดงว่าวาล์วน้ำไม่ทำงาน ต้องเปลี่ยนใหม่ พร้อมกับปะเก็นของเครื่องยนต์ใหม่ นี่คือประสบการณ์ครั้งแรกที่เครื่องยนต์ร้อน

เมื่อต้องขับทางไกลจึงวางแผนว่า ต้องซื้อวาล์วปิดเปิดเอาไว้เป็น Spare part ติดรถไว้ 1 อัน ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจริง ตอนขับรถจาก กทม. กลับหาดใหญ่ หม้อน้ำร้อนขึ้น ต้องหยุดรถก่อนเครื่องดับ จึงใช้ประแจแหวนที่ซื้อมาประจำรถถอดเปลี่ยนวาล์วที่สำรองเอาไว้ด้วยความมั่นใจว่าน่าจะเกิดจากอาการเดิม ตอนนั้นเสียแถว ๆ สมุทรสงคราม แล้วขับต่อ ก่อนถึงเพชรบุรีเครื่องร้อนอีก ต้องเข้าร้านซ่อมหม้อน้ำ ปรากฏว่าหม้อน้ำตัน ต้องล้างหม้อน้ำ เสียเวลาไป 2 ชม. กลับเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

ได้ความรู้จากช่างเขาแนะนำว่าถ้าพบว่าเครื่องร้อน มีความร้อนขึ้นที่หม้อน้ำ ให้รีบดับเครื่องยนต์แต่ให้เปิดแอร์ทำงาน เพราะพัดลมระบายความร้อนของแอร์จะช่วยพัดระบายความร้อนของเครื่องยนต์ได้ ไม่ทำให้เครื่องยนต์พังก่อนกำหนด

ตอนหลัง ๆ มานี้พยายามตรวจดูว่าหม้อน้ำสกปรก มีน้ำเกิดสนิมเยอะหรือไม่ ถ้ามีให้เปลี่ยนถ่ายน้ำด้วยตนเอง วิธีการถ่ายน้ำนั้นไม่ยาก เพียงแต่เรารอให้เครื่องยนต์เย็น หม้อน้ำเย็น แล้วเปิดรูระบายน้ำซึ่งอยู่ด้านล่างของหม้อน้ำ หมุนเกลียวถอดธรรมดา พร้อมกับเปิดฝาหม้อน้ำด้านบนออกมา น้ำจะไหลออกจนหมด แนะนำให้ใช้น้ำประปาฉีดไล่สนิมภายในหม้อน้ำออกเสียก่อน แล้วค่อยปิดรูระบายน้ำกลับเหมือนเดิม เติมน้ำเข้าทางฝาด้านบนจนเต็ม ส่วนถังที่เก็บน้ำพัก ซึ่งต่อท่อมาจากหม้อน้ำให้ถอดออกมาเททิ้งเสียด้วย ให้เติมน้ำยารักษาหม้อน้ำในถังนี้จะช่วยยืดการเกิดสนิมในน้ำ เขาว่าทำให้น้ำไม่ร้อนจัดด้วย อย่าลืมปิดฝากลับให้สนิท ถ้าถอดหม้อพักน้ำไม่ได้ ให้ใช้วิธีเป่าน้ำให้น้ำไหลออกมาก็ได้

ตอนนี้จึงไม่เกิดปัญหาหม้อน้ำร้อนอีกเลย

ในตอนนี้จะพูดถึงการเปลี่ยนหัวเทียน ซึ่งจากการค้นหาความรู้จากในเว็บ หลายคนแนะนำว่า เมื่อครบ 20,000 กม. ให้เข้าอู่ เปลี่ยนหัวเทียนได้เลยไม่ต้องรอให้เสีย สำหรับคนที่ไม่เชื่อ แล้วขับต่อไปเรื่อย ๆ รอให้เสียแล้วค่อยเปลี่ยน ให้ระวังจะเสียขณะขับทางไกล ดังนั้นสมควรซื้อสำรองเก็บเอาไว้ในรถ (ของผมตอนนี้ไมล์มากกว่าสองแสนห้าเพิ่งเปลี่ยนหัวเทียนครั้งที่ 3 เอง)

สำหรับอาการที่เตือนว่าหัวเทียนจะเสียให้สังเกต รอบเครื่องยนต์ จะกระตุกเมื่อเราเร่ง ตอนแรกบางคนอาจคิดว่ามีน้ำมันปลอมปน อย่าฝืนขับต่อไปเพราะอาจจะดับขณะขับแซง มันอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้นะครับ โดยเฉพาะถนนที่เป็น 2 เลน

วิธีการเปลี่ยนหัวเทียนด้วยตนเองนั้นไม่ยาก เราสามารถนำเครื่องมือถอดหัวเทียนที่ติดมากับรถ หัวเทียนให้ใช้เบอร์เดียวกับที่ติดรถ ของผมใช้ของ Denso เบอร์ 7 ราคาหัวละ 50 บาท ให้ซื้อจากร้านอะไหล่จะดีกว่า เพราะหัวเทียนราคาไม่แพงคงไม่มีของปลอม

การเปลี่ยนต้องถอดสายไฟออกก่อน แล้วจึงถอดขันหัวเทียนออกมา เอาหัวเทียนใหม่ใส่กลับทันที พร้อมกับสวมสายไฟกลับไป แล้วค่อยทำกับหัวเทียนหัวที่ 2 ต่อไป ข้อควรระวัง อย่าถอดสายไฟจนหมดทุกเส้น แล้วถอดหัวเทียนออกมาหมด แล้วจึงใส่กลับพร้อมกัน เพราะจะทำให้เกิดการสลับสายไฟจุดระเบิดได้ เพราะนั่นคือปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะจะทำให้เครื่องยนต์ไม่ติดได้

บางตำแหน่งของหัวเทียนอาจจะต้องถอดชุดกรองอากาศออกก่อน ให้ถอดกรองอากาศออกเสียก่อน เพราะใส่กลับไม่ยาก

การทำอะไรด้วยตนเอง นอกจากจะภาคภูมิใจแล้ว ทำให้เกิดทักษะความเป็นช่าง เพื่อเป็นพื้นฐานให้สามารถทำงานที่ยากและซับซ้อนกว่านี้ได้ โดยไม่กลัวมันอีกต่อไป มาฝึกเป็น DIY กันเถอะ

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบรถอเมริกา หรือรถนำเข้า หรือรถเก่า มักจะเกิดปัญหาหาอะไหล่ยาก
บัดนี้ Amazon.com มีบริการขายอะไหล่ หรือผู้ที่ชอบแต่งรถ สามารถค้นหาได้จากลิงค์ค้นหาด้านล่างนี้ครับ



วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอน 2 ซ่อมติดตั้งจานดาวเทียม ด้วยตนเอง


สวัสดีครับชาว D.I.Y. วันนี้ขอเสนอการซ่อม ปรับปรุงจานรับดาวเทียมเพื่อดูทีวี และวิทยุ จากดาวเทียมไทยคม 2 และ 5 รวมทั้งดาวเทียม NSS6 โดยไม่ต้องใช้เข็มทิศ

ความเดิม

ผมเคยซื้อและติดตั้งจานดาวเทียมด้วยตนเองมานานแล้ว จำปีที่แน่นอนไม่ได้แล้ว แต่น่าจะมากกว่า 12 ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีดาวเทียมไทยคมรับทีวีไทย ยังเป็นยุคดาวเทียมอนาล็อก ใช้ของ AsiaSat และ Palapa ของเดิมที่ติดเป็นของ AsiaSat จำองศาและมุมเงยไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเอาไว้ดู MTV กับรายการต่างประเทศประมาณ 5-6 ช่องเท่านั้น ใช้ได้ประมาณ 5-6 ปี Receiver ก็เสียพร้อมกันกับ LNB ไม่คิดที่จะจะซ่อม เพราะรายการยังไม่มากเหมือนปัจจุบัน

ช่วงนี้สัญญาณทีวีที่ใช้อยู่ไม่ชัด จึงคิดจะเอาจานเดิม แล้วซื้อ Receiver กับ LNB มาเปลี่ยนใหม่ และใช้สายสัญญาณ RG6U กับจานขนาด 5.5 ฟุตเดิม

เริ่มต้นได้ศึกษาจากเว็บผู้ขายสินค้า ได้แก่ www.psi.co.th เห็นว่า การติดตั้งง่ายกว่าเดิมแบบเก่า ราคาเครื่องและอุปกรณ์ก็ไม่แพง จึงได้จัดซื้อ Receiver รุ่น O2 ของ PSI มาในราคา 1050 บาท และ LNB ทั้ง C-band และ KU-Band หัวรับเป็น Duo เพื่อจะดู 2 จุด และมีตัวรวมสัญญาณ (D2R-4s) 1 ตัว

ก่อนวันติดตั้งจริง ได้ศึกษา มุมส่าย มุมเงยของดาวเทียมไทยคม จากเว็บไซต์ข้างต้น ดูตารางมุมส่ายอยู่ที่ 252.83 องศา มุมเงยอยู่ที่ 26.84 องศา (จังหวัดสงขลา) ในขณะที่การติดตั้งยังไม่มีเข็มทิศ หรือเครื่องมือติดตั้งดาวเทียมอยู่เลย วิธีแก้ปัญหาคือ เอากระดาษ มาวาดเป็น 4 ทิศ และคำนวณมุม 252 และกะประมาณมุมเงย ได้ดังรูป



ให้สังเกตุจากมุม 270 นั่นคือทิศตะวันตก ให้หันหน้าจานไปทางนั้นก่อน ปรับมุมเงยประมาณ 26 องศาในแนวขนานกับพื้นคือ 0 ตั้งฉากคือ 90 ดังนั้นมุมเงยจะไม่เกินครึ่งหนึ่งของมุมฉาก (คิดแบบง่าย ๆ)

ถัดจากนั้นถอดหัว LNB เดิมออก ซึ่งขึ้นสนิมหมดแล้ว ไม่สามารถใช้ประแจมาขันออกได้ ผมได้ใช้เลื่อยเหล็ก เลื่อยน็อต-สกรูออกทั้ง 4 ตัว จัดแจงใส่หัว LNB ใหม่เข้าไป ซึ่งเขาแนะนำให้มุม 240 องศาที่เขาขีดบอกไว้ที่หัว LNB ให้ชี้ลงด้านล่าง ระยะห่างระหว่างหัว LNB กับที่จับมีระยะห่าง 2 เซ็นติเมตร เมื่อขึ้นไปทำบนหลังคาแล้ว ได้ลืมเอาไม้บรรทัดไปด้วย แก้ปัญหาโดยวัดเอากับประแจเลื่อนที่เขาทำขีดเอาไว้ ก็สามารถแทนกันได้


ก่อนที่จะยึดตัวจับ LNB เราต้องยึดพร้อมกับตัวรองรับหมวกกันฝนและก้านยึด LNB KU-Band พร้อมกัน

การยึดหัว KU-Band ให้ตำแหน่ง LNB ลงมาด้านล่าง ปอกสาย RG6U เพื่อต่อกับ F-Type จำนวน 4 เส้น ไม่ยาวมากนัก ต่อกับ D2R-4s เป็นตัวรวมสัญญาณ (เขามีไดอะแกรมบอกที่ตัว D2R-4s) นำสาย RG6U ที่ต่อมายังเครื่องรับ Receiver ที่ในห้อง เข้าหัว F-Type ทั้ง 2 เส้น ต่อเข้าที่ D2R-4S ที่จุด R1, R2 ตามลำดับ (R1 หมายถึง Receiver 1 การต่อในครั้งนี้สามารถดูได้ 4 จุด)

หลังจากนั้นลงมาเสียบ F-Type ที่ปลายสายในตัวบ้าน เข้ากับขั้วต่อท้าย Receiver นำสาย A/V มาต่อจาก Receiver ไปยังเครื่องรับ TV โดยให้เอาด้าน Video-out ของ Receiver ไปเสียบเข้ากับ Video-in ของทีวี และ Audio ก็ให้ทำเช่นเดียวกัน

จัดการเสียบปลั๊กไฟฟ้าของเครื่องทั้งสอง เปิด Power และปรับช่องทีวีให้เป็น AV ให้เปลี่ยนช่องเฉพาะ ที่ Receiver เท่านั้น

เมื่อลงมาจากหลังคาครั้งแรก ปรากฏว่าไม่มีสัญญาณเลย จึงขึ้นกลับไปใหม่ ไปพร้อมกับกล้องถ่ายรูป แล้วลงมือปรับมุมส่ายใหม่อีกครั้ง ได้ภาพการติดตั้งมาพอสังเขป ดังนี้




โชคดีเมื่อขึ้นไปครั้งที่ 2 สัญญาณฟรีทีวี ช่อง 3-5-7-9-11 รับได้ชัดเจน ได้ระดับสัญญาณที่ 79 คุณภาพสัญญาณที่ 82 เป็นที่น่าพอใจ จากนั้นจึงทำการปรับมุมส่าย มุมเงยอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยสื่อสารกับฝั่งด้าน Receiver โดยใช้โทรศัพท์มือถือ เสียเวลาพอสมควรกว่าจะได้คุณภาพทุกช่อง

เป็นอันว่าสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ จัดการเก็บสาย เก็บงานให้สวยงาม ปิดหมวกกันฝน อันนี้สำคัญในครั้งที่แล้ว ไม่ได้ใส่ มักจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียได้ง่าย เพราะอิเล็กทรอนิกส์กับฝนไม่ค่อยไปด้วยกันได้

ขันน็อตยึดทั้งมุมส่ายและมุมเงยให้แน่นก่อนลงมา

วัสดุและเครื่อมือที่ใช้ดังรูป



ภาพเมื่องานเสร็จแล้ว





จะเห็นว่าการติดตั้งจานดาวเทียมเพื่อรับชมทีวี เป็นเรื่องง่าย ๆ ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่มีใจรักในเรื่อง D.I.Y. และพยายามเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ รู้จักใช้เครื่องมือให้เป็นบ้าง

ข้อแนะนำสำหรับมือใหม่ ในการซื้อจานดำ ปัจจุบันราคาทั้งชุดขายอยู่ที่ 1900-2000 บาท
1 ชุดประกอบด้วย
  1. จานโปร่งขนาด 5 ฟุต
  2. Receiver 1 ตัว
  3. LNB C-Band 1 ตัว
  4. สายสัญญาณต้องเป็น RG6U คุณภาพสูงกว่าสายสัญญาณโทรทัศน์ทั่วไป ความยาวขึ้นอยู่กับระยะจานกับจุดรับทีวี
  5. F-Type จำนวน 2 ตัว
เครื่อมือที่ใช้เพิ่มเติม สว่านไฟฟ้า พุกหรือหัวระเบิด ประแจเลื่อน คัตเตอร์ คีมตัดสาย

แนะนำเครื่องเสียงสำหรับคนที่ชื่นชอบเสียงเพลง MV มาเสริมการฟังให้บรรยากาศในการฟังที่ดีขึ้น ด้วย ONKYO Receiver ด้านล่างครับ ซื้อโดยตรงจาก Amazon.com เปรียบเทียบราคาจากเมืองไทยดูนะครับ




วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

DIY ตอนที่ 1 ติดตั้งฉนวนกันความร้อน

เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาทุกท่านจะรับรู้กันว่า อุณหภูมิร้อนมากกว่าทุก ๆ ปี หลายคนหาวิธีหลีกหนีความร้อน ด้วยการไปเดินห้าง บ้างก็ไปสวนสาธารณะ บ้างก็ไปทะเล มันก็ได้ผลระดับหนึ่ง แก้ปัญหาได้ไปเพียวัน ๆ บางครั้งกลับมีปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่นถ้าำไปเดินห้าง จะมีสินค้าล่อตาล่อใจ ทำให้สูญเสียเงินทองโดยใช่เหตุ ไปซื้อของด้วยเหตุว่าลดราคา แต่เมื่อกลับมาบ้านของนั้นมีอยู่แล้วที่บ้าน ที่ซื้อเพราะว่ามันลดราคา

มาดูอีกวิธีหนึ่งที่ลดความร้อนให้บ้าน ด้วยวิธีติดตั้งฉนวนกันความร้อน จะแก้ปัญหาความร้อนได้ตลอดไป ผมเริ่มจากการค้นหาความรู้เรื่องฉนวนกันความร้อนว่า มีชนิดใด ยี่ห้อใด ราคาเท่าไร เพื่อคำนวณงบประมาณที่จะใช้ ด้วยการเข้าไปห้องชายคา ในพันทิพย์ (www.pantip.com) มีผู้รายงานการใช้ฉนวน Stay cool ตราช้าง ของ SCG พร้อมราคาและวิธีการติดตั้ง จึงคิดว่า น่าจะ DIY ได้ จึงได้ไปซื้อที่ HomePro ราคาถุงละ 450 บาท ความหนาขนาด 6 นิ้ว ถ้า 3 นิ้วราคา 350 บาททดลองซื้อมาทั้ง 2 แบบในตอนแรกตั้งใจจะติดตั้งเฉพาะในห้องทำงาน และห้องนอนก่อน





ขั้นตอนการติดตั้งไม่ยาก โชคดีที่บ้านใช้ฝ้าแบบแผ่นเรียบ ขึ้นไปเดินบนฝ้าได้ จึงนำถุง Stay cool ขึ้นไปเปิดข้างบนฝ้า

เครื่องมือที่ใช้
  1. กรรไกรตัดกระดาษ ใช้ตัดเทปฟรอยด์อลูมิเนียมและตัดขอบที่ปลายฉนวนให้เสมอกัน
  2. ถุงมือ ป้องกันใยแก้วถูกผิวหนัง (จะรู้สึกคัน)
  3. หน้ากากอนามัย (mask) ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต
  4. บันได

การติดตั้ง

เริ่มจาก
  1. เปิดถุงดึงฉนวนออกมาอย่างระมัดระวังอย่าให้ฟรอยด์อลูมิเนียมที่เคลือบฉีกขาด จะทำให้ใยแก้วแตกหลุดออกมาได้ (ถ้าฉีกขาดต้องใช้เทปฟรอยด์อลูมิเนียมปิด)
  2. คลี่ฉนวนซึ่งมี ความกว้าง 0.60 เมตรความยาว 4 เมตรออกมา ที่ปลายทั้ง 2 ยังไม่ได้ปิด จึงต้องนำเทปฟรอยด์มาปิดทั้งสองด้านให้สนิท
  3. วาง Stay cool ตามร่องของฝ้าซึ่งมีขนาดความกว้างเท่ากันคือ 0.6 เมตรให้ขนานกันจนเต็มพื้นที่ อย่าให้มีพื้นที่ว่าง
  4. ปรับแต่งจุดรั่ว หรือขาดโดยการปิดเทปฟรอยด์ทุกจุด




รายงานผลหลังการติดตั้ง

อุณหภูมิภายในห้องลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด แต่อุณหภูมิภายในฝ้า ใต้หลังคาจะสะสมความร้อนสูงขึ้น
การแผ่รังสีความร้อน จากใต้ฝ้าลงสู่พื้นแทบจะไม่มี สำหรับบ้านที่อยู่ริมภูเขา ริมป่าไม้ จะมีข้อเสียในเรื่องความเย็น ในช่วงกลางคืน ถ้าเดิมที่เคยรู้สึกเย็นสบายตอนย่ำรุ่ง เมื่อติด Stay cool แล้วจะไม่รู้สึกเย็นมากนัก ทั้งนี้เพราะฉนวนอาจจะกักเก็บความเย็นไว้บนฝ้า ไม่ยอมผ่านลงมาในห้องนะครับ ต้องรับความเย็นจากผนังบ้านทางเดียว

ความเห็นเพิ่มเติม

ไม่จำเป็นต้องใช้ขนาด 6 นิ้ว ในกรณีที่บ้านของท่านมีช่องระบายความร้อนดี ควรใช้ 3 นิ้ว เพราะดู spec แล้วขนาด 6 นิ้วทนความร้อนสะสมได้ถึง 22 ชม. ขนาด 3 นิ้ว สะสมความร้อนได้ถึง 10 ชม. ซึ่งเพียงพอกับแสงแดดในประเทศไทย ขนาด 2 นิ้ว ได้ 7 ชม.

ควรดูสินค้ายิ่ห้อ อื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบ สำหรับของผมในหนึ่งหลังใช้ 2 ยี่ห้อ 3 ขนาดด้วยกัน ตั้งแต่ 6 นิ้ว 3 นิ้ว และ 2 นิ้ว
2 นิ้วของยี่ห้ออะไรจำไม่ได้แล้ว ราคา 173 บาท และให้ไปหาร้านที่ลดราคาหลาย ๆ ร้าน ขนาด 3 นิ้วได้ในราคา 279 บาท แต่เป็นชนิดที่หุ้มด้วย เมทาไลท์ฟิล์ม ขาดง่ายกว่า ถ้าท่านอยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล หรือภาคกลาง ลองค้นหาใน google ด้วยคำค้นว่า stay cool 399 ด้วย
e-commerce ร้านนั้นเขาขาย 6 นิ้วเพียง 399 บาทเท่านั้นเอง

ทดลองทำด้วยตนเอง นอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้ว ทำให้เราภูมิใจ และรักบ้านขึ้นอีกเยอะเลยครับ ลองดูนะครับ

comment from facebook