วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แลนเซอร์ อีคาร์ ปี 93 รหัสเครื่อง 4G15 เข้าเกียร์ 1 ติดขัด

สืบเนื่องจากมีคำถามจากสมาชิกว่า เมื่อเข้าเกียร์ 1 จะเข้าเกียร์ได้ยาก หรือติดอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งปัญหานี้ก็เคยมีปัญหามาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ในตอนนั้นได้เข้าอู่ให้ช่างเขาแก้ไขให้ ปรากฏว่าใช้ได้ดีมาระยะหนึ่ง แต่พอมาถึงปัจจุบัน มันเกิดขึ้นอีกแล้ว แต่เมื่อครั้งที่แล้ว เกิดปัญหาเกียร์หลวมเพราะน็อตจะหลุด ได้เปิดเข้าดูเห็นโครงสร้างของคันเกียร์ ทำให้ทราบสาเหตุของปัญหา วันนี้จึงทำการซ่อมแล้วนำมาแนะนำให้สมาชิกได้ทดลองทำตาม ไม่ต้องเข้าอู่ซ่อมอีกต่อไป การซ่อมครั้งนี้ไม่ต้องซื้ออะไหล่ จึงไม่มีค่าใช้จ่าย เหมาะสำหรับผู้ใช้รถรุ่นนี้ทุกคน สามารถซ่อมได้ด้วยตนเอง แม้ว่าไม่ได้เป็นช่างยนต์ก็ตาม

มาดูสาเหตุของการเข้าเกียร์ 1 ไม่ได้กันเลยครับ ให้พิจารณาจากภาพต่อไปนี้



ให้สังเกตที่ปลายลูกศรสีแดง เมื่อเราโยกเกียร์จะเข้าเกียร์ 1 เราต้องโยกไปทางซ้ายมือสุด แล้วผลักไปด้านหน้า ขณะที่เราโยกและผลัก จะทำให้คันเกียร์ด้านล่างตรงปลายลูกศรสีแดงไปเบียด หรือขัดกับฐานของเกียร์

ส่วนสาเหตุที่ไปขัดกันนั้นก็เนื่องมาจาก กระบอกคันโยกเกียร์หลวมมาก วิธีแก้ไข จึงควรอัดหรือใส่ปลอกไว้ในกระบอกเกียร์นะครับ


  • วัสดุที่จะอัดในปลอกคันเกียร์ ผมใช้ขวดน้ำดื่มขาวใส วัดขนาดให้เท่ากับความกว้างของกระบอกคันเกียร์




  • ถอดคันเกียร์ออกมา ด้วยประแจเบอร์ 14 ดังภาพ


  • เมื่อถอดออกมาให้ม้วนแผ่นพลาสติกที่ตัดมาจากขวด พันรอบแกน ดังภาพ

  • พันหลายรอบจนหนา (ในที่นี้ผมใช้ขวดขาวเต็ม 1 รอบ ตามภาพที่ 1)
  • ใส่คันเกียร์กลับเข้าไป แล้วขันน็อตเบอร์ 14 กลับตามเดิม อย่าลืมว่ามีแหวนธรรมดาอยู่ด้านในสุด และแหวนสปริงรองอีกครั้ง
  • ทดลองเข้าเกียร์ 1 ดู จะรู้สึกว่าเข้าเกียร์ได้แม่นยำ ไม่ได้ยินเสียงเกียร์หลวมอีกต่อไป
สำหรับการถอดอุปกรณ์ทั้งหมดก่อนจะถึงเกียร์ มีขั้นตอนตามภาพ ต่อไปนี้












หวังว่าคงมีประโยชน์ สำหรับสมาชิก Lancer e-car กันทุกคนนะครับ

เปลี่ยนดิสก์เบรคล้อหน้า แลนเซอร์ อีคาร์ 4G15 ปี 93

การเปลี่ยนผ้าเบรค แบบดิสก์ด้วยตนเองนั้น ช่าง หรือกูรู หลายคนไม่แนะนำให้ทำ เพราะมันเป็นเรื่องของความปลอดภัย หากทำผิดพลาด ขาดตกบกพร่องอาจอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สินได้

แต่สำหรับคนที่มีพื้นฐานทางช่าง ที่ผ่านการเรียนวิชาเทคนิคพื้นฐาน เทคนิคการใช้เครื่องมือ พื้นฐานความปลอดภัยมาแล้ว ผมคิดว่าท่านสามารถทำได้ ไม่ว่าท่านจะเรียน ช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อม ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้า ฯลฯ เพราะว่าเมื่อศึกษาเพิ่มเติมจากที่เขาสอนในเว็บ หรือใน youtube เราจะรู้ว่ามันทำได้ไม่ยากเลย

ในวันนี้ หลังจากผมเคยใช้บริการเปลี่ยนผ้าเบรคมาครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งนั้นไม่แน่ใจว่าช่างเอาผ้าเบรคยี่ห้ออะไรมาเปลี่ยนให้ ตอนใช้ใหม่ ๆ ก็ไม่ได้เปรียบเทียบกับรถอะไร ขับไปได้เรื่อย แต่เมื่อได้ขับรถคันอื่นแล้ว มาเปรียบเทียบกันแล้ว ปรากฏว่ารถเราเบรคไม่ค่อยดี เสี่ยงต่อการชนท้ายเพื่อนได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมการขับรถของผู้ใช้รถในปัจจุบัน ที่ไม่เหมือนในอดีต เพราะในอดีตรถไม่มาก การแย่งพื้นที่บนถนนจะไม่มี แต่พอมีโครงการรถคันแรกเกิดขึ้น จึงมีพวกเกรียนขับรถ ปาดซ้าย ปาดขวา แซงขึ้นมาแล้วแกล้งเบรคก็มี อย่างล่าสุด สด ๆ ร้อน ๆ ทำให้เราต้องเบรคจนเสียงอี๊ด!!! ดังสนั่น......

หากเป็นเช่นนี้อยู่เรื่อย ๆ คงอันตราย เห็นทีต้องเปลี่ยนผ้าเบรคใหม่แล้ว ดังนั้นจึงเข้าศึกษาหาความรู้กับอาจารย์กูเกิล และ youtube ได้รู้ว่ายี่ห้อ เบนดิก กับ akebono น่าสนใจ จึงไปซื้อที่ร้านอะไหล่ยนต์ ได้ยี่ห้อ เบนดิก ส่วน akebono พนักงานที่ร้านไม่รู้จัก อย่าลืมตอนซื้อต้องบอกยี่ห้อและรุ่นของรถเราให้ตรงกันด้วยนะครับ

มาดูขั้นตอนการเปลี่ยนผ้าเบรค กันเลยดีกว่า

1. ขั้นตอนการเตรียมการ และการรักษาความปลอดภัยขณะทำงาน

  • ดึงเบรกมือเพื่อไม่ให้ล้อหลังเคลื่อน
  • ถอดน็อตยึดล้อหน้าด้านที่ต้องการเปลี่ยนก่อนให้พอหลวม ๆ ไม่ต้องให้หลุดออกมา

  • ใช้แผ่นไม้ หรือแผ่นคอนกรีตที่หนา ๆ เรียบ ๆ รองใต้ฐาน วางแม่แรงยกรถไว้บนเพื่อกันแม่แรงล้ม ขณะยกรถขึ้น
  • นำแม่แรงที่ติดมากับรถ วางตรงตำแหน่งที่คู่มือประจำรถแนะนำ (จะมีเครื่องหมายบอก) ทำการหมุนแม่แรงเพื่อยกรถให้สูงจนวางเหล็ก 3 ขาได้

  • ถอดน็อตที่ล้อออกให้หมดทั้ง 4 ตัว ดึงล้อออกมา ถ้าแน่นมาดึงด้วยมือไม่ได้ ให้ใช้เท้าถีบที่ยาง จะหลุดออกมาง่ายดาย
2. ขั้นตอนการเปลี่ยน
  • ใช้ประแจเบอร์ 14 (ใช้ประแจบล็อกจะทำให้ถอดง่ายขึ้น) ถอดน็อตตัวบน ดังภาพ (น็อตตัวล่างไม่ต้องถอด)

  • ใช้คีมดึงคลิปหนีบ (ที่ทำหน้าที่รั้งตรึงสายเบรคให้อยู่กับที่) ออกมา แล้วดึงสายเบรคออกมา ถ้าแน่นมากจะใช้คีมดึงไม่ออก ให้ใช้ฆ้อนตีบนไขควงตอกให้เคลื่นตัว แล้วใช้คีมดึงอีกที

  • เมื่อถอดน็อตตัวบนออกแล้ว และสายเบรคออกจากตัวยึดแล้ว ให้ดึงเปิดฝาครอบผ้าเบรคลงมา 
  • จะเห็นแผ่นรองผ้าเบรก เป็นแผ่นเหล็กบาง ๆ ให้ดึงออกมาได้เลย หลังจากนั้นจึงดึงแผ่นผ้าเบรคออกมาอย่างง่ายดาย

  • ขั้นตอนการใส่กลับ ให้เอาผ้าเบรคใส่เข้าไปในร่อง เหมือนกับที่เอาออกมา แล้วค่อยใส่แผ่นเหล็กบาง ๆ ปิดประกบ แต่มันจะไม่เรียบสนิทกับแผ่นผ้าเบรค บางทีหลุดหรือหล่นลงมา จึงควรทาจารบีด้านที่ประกบกับผ้าเบรคบาง ๆ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้มันเรียบสนิทสะดวกตอนยกฝาครอบเบรคกลับ

  • หลังจากนั้น ให้ลงมือถอดชุดผ้าเบรคด้านใน ในตอนนี้ไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้ เราสามารถก้มหน้าเข้าไปมองแผ่นเบรคเห็น จัดการนำแผ่นเหล็กบางออกมา ซึ่งด้านในจะมีแผ่นรอง 2 แผ่น วิธีการถอดและการใส่จะเหมือนกันทั้งสองด้าน
  • ในเว็บบอร์ดที่มีการถามตอบการเปลี่ยนเบรค จะมีการแนะนำให้เจียร์จานเบรค แต่เราควรดูด้วยตนเองได้ว่าจานเบรคของเรามีร่องรอยไม่เรียบ หรือไม่ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ปล่อยให้ผ้าเบรคหมด มักจะไม่เกิดร่อง รอยสึกหรอแต่อย่างใด การที่ช่างเขาแนะนำให้เจียร์จานเบรคเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
  • เมื่อใส่ผ้าเบรคเสร็จทั้ง 2 ด้านแล้ว ขั้นต่อไปคือการปิดฝาครอบเบรคกลับ แต่จะไม่สามารถปิดได้ เพราะคาลิปเปอร์ หรือลูกยางที่คอยดันออกเมื่อเราเหยียบเบรค มันจะยื่นออกมามากทำให้ช่องมันแคบ ปิดไม่ได้ ดังนั้นต้องใช้ ซีแคลมป์ ขันให้น้ำมันเบรคออกไปพร้อมกับลูกยางให้มันผลุบเข้าไปด้านใน ซึ่งขณะหมุนเข้าไปน้ำมันเบรคภายในสายจะขึ้นไปเก็บในช่องเติมน้ำมันเบรค จึงต้องเปิดฝาน้ำมันเบรคออก 

  • ในการขันซีแคลมป์เราอาจใช้แผ่นเบรคเก่ารอง หรือใช้แผ่นไม้ ก็ได้ จากนั้นจึงยกฝาขึ้นปิดกลับตามเดิม พร้อมยึดน็อตเบอร์ 14 และยึดตรึงสายเบรคด้วยคลิปหนีบตามเดิม
  • จัดการใส่ล้อ ใส่น็อตล้อทั้ง 4 ตัว ขันพอแน่น เอาสามขาออก และแม่แรงลง เมื่อล้อถึงพื้นจึงหมุนน็อตยึดล้อให้แน่นทั้ง 4 ตัว
  • จัดการเปลี่ยนแผ่นผ้าเบรคอีกด้านของรถ ด้วยวิธีเดียวกัน
  • เสร็จแล้วอย่าลืม ยึดน็อตที่ล้อให้แน่น และปิดฝาน้ำมันเบรคให้สนิท 
  • ทดลองขับ ทดลองเบรค ในครั้งแรกที่เครื่องสตาร์ทติดต้องทดลองเหยียบเบรค 2-3 ครั้งก่อนเพื่อให้ไล่ลม มิฉะนั้นหากเข้าเกียร์ออกรถไปเลย จะเบรคไม่ได้ อาจเกิดอุบัติเหตุได้

รถผมคันนี้มีระยะเข็มไมล์ วิ่งได้ 327000 กว่า กม. แล้ว เพิ่งเปลี่ยนผ้าเบรคครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสภาพ ระหว่างของใหม่ กับของที่ถอดดูปรากฏว่า ผ้าเบรคสึกไปแค่เพียงครึ่งเดียว



ด้านซ้ายมือเป็นของใหม่ ด้านขวาเป็นของที่ถอดออกมา

จะเห็นว่า ผมขับรถ ใช้เบรคน้อยมาก เมื่อเทียบกับคนขับอื่น ๆ ดังนั้น จึงขอให้คำแนะนำให้ผู้ที่สนใจต้องการใช้รถให้ได้นาน ประหยัดค่าซ่อมบำรุง ค่าอะไหล่ มีดังนี้

  • สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ กำหนดไว้เลยว่า ถ้าเดินทางระยะใกล้ ๆ จะใช้วิธีเดิน กับปั่นจักรยาน ยกเว้นต้องบรรทุกสิ่งของ
  • ขับรถความเร็วตามกฏหมายกำหนดคือ 90 กม./ชม. หากต้องเร่งรีบ จะใช้วิธีไปก่อนเวลา อย่าคำนวณตามระยะทางตามหลักคณิตศาสตร์ เช่น เราจะเดินทางไปยังเป้าหมายระยะทาง 90 กม. เราคำนวณว่า เราใช้ความเร็ว 90 กม./ชม. ดังนั้น เราจะใช้เวลาเพียง 1 ชม.ก็พอ ซึ่งแบบนี้จะผิดพลาด เพราะเราต้องเผื่อติดไฟแดง เผื่อการจราจรติดขัด เผื่อผ่านเขตชุมชน ฯลฯ ปกติ ระยะทาง 90 กม. ผมใช้เวลา 1 ชม.30 ถึง 1 ชม. 45 นาที
  • อย่าขับรถชิดคัดข้างหน้ามากเกินไป  ผมจะใช้ระยะห่างจากท้ายคันหน้า ประมาณ 4-5 วินาที ใช้เทคนิคมาร์คท้ายรถคันหน้าแล้วนับ 01-02-03-04 ถ้าตำแหน่งที่พูด 04 ถึงตำแหน่งที่ท้ายรถคันหน้าอยู่พอดี (ตอนเราพูด 01) เราจะปลอดภัยจากการชนท้าย หรือการเบรคอย่างรุนแรง วิธีการนี้ใช้ได้ทุกความเร็ว
  • หากรถเราอยู่ระยะห่างตามข้อข้างบน  ในขณะคันข้างหน้าเบรค ให้เราเพียงยกเท้าออกจากคันเร่งเท่านั้น ไม่ต้องเบรคตาม
  • หลีกเลี่ยงขับรถตามหลังคันที่เบรคโดยไม่มีเหตุผล หรือเร่งความเร็วแล้วเบรค เร่งแล้วเบรค
  • เมื่อเห็นรถติดไฟแดงตั้งแต่ไกล ๆ ให้ถอนคันเร่งทันที ปล่อยให้รถไหลไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยเบรคเบา ๆ เมื่อใกล้จะถึงรถคันหน้า
  • หลักการแซงอย่างปลอดภัย คือ การแซงรถคันหน้า ให้ใช้ความเร็วกว่ารถที่เราจะแซง 10% ก็เพียงพอ หากคันหน้าเปลี่ยนเลนกะทันหันจะทำให้เราเบรคได้ทัน การทำความเร็วสูง แล้วแซงรถที่ความเร็วปกติ จะทำให้รถคันหน้าตกใจได้ 
  • ไม่เปิดไฟสูงกระพริบใส่รถคันหน้า

comment from facebook