มาว่ากันถึงการเสียของไดชาร์จตัวที่ซ่อมกันดีกว่า สาเหตุที่ทราบว่าเสียแล้ว ก็เนื่องมาจากขับรถอยู่บนถนนดี ๆ มีอันต้องดับสนิท ไฟกระพริบฉุกเฉินก็ไม่ติด หากขับรถกลางคืนจะอันตรายมาก ความเชื่อในเรื่องการช่วยกันเข็นให้สตาร์ตติดแล้วขับไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ใกล้ ๆ บ้านจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วหากเป็นกรณีนี้ เพราะอุปกรณ์ในรถยนต์ยุคใหม่จะทำงานด้วยไฟฟ้า เช่น ชุด ECU, Brake ABS, Solenoid Gas, และปั๊มติ๊ก เพราะมันใช้ไฟฟ้าทั้งนั้น หากไดชาร์จยังทำงานอยู่แม้ว่าแบตฯ จะหมดไฟก็ตาม แต่ไฟจากไดชาร์จมันส่งไปเลี้ยงอุปกรณ์ดังกล่าวได้ แต่หากว่าไดชาร์จเสียพร้อมกับแบตฯ หมด ไฟจึงไม่สามารถส่งไปเลี้ยงอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิคส์ได้ จึงดับเท่านั้นเอง ในครั้งนี้จึงเขียนมาบอกเพื่อเป็นอุทาหรณ์ ให้เพื่อน ๆ ตระหนักกันด้วยครับ
ไดชาร์จตัวนี้ยังไม่เคยเสีย ใช้มาได้ระยะ 315,000+ กม. เป็นเวลา 20 ปี ทำไมถึงใช้ได้นานขนาดนี้ ถ้าของใครเสียเร็วกว่านี้ขอถามว่า ท่านเพิ่มขนาดแบตเตอรี่ใหญ่กว่าเดิมไหม ท่านติดตั้งเครื่องเสียงเพิ่มขึ้น ท่านต่อพ่วงมอเตอร์ระบายน้ำร้อนขนานกับมอเตอร์แอร์หรือไม่ เพราะนั่นมันคือภาระ (load) ให้การทำงานของไดชาร์จมากขึ้น ทำให้เสื่อมเร็ว
วิธีการทดสอบว่าไดชาร์จยังทำงานอยู่หรือไม่ โดยการใช้มิเตอร์ไฟฟ้าวัดแรงดันไฟฟ้าในขณะที่ไม่ติดเครื่องกับขณะติดเครื่องเป็นอย่างไร หรือบางคนอาจใช้วิธีสตาร์ตให้ติดแล้วปลดขั้วลบออกหากดับแสดงว่าเสีย (ผมยังไม่ได้ทดลอง)
ภาพที่ 1 แรงดันไฟขณะเครื่องยังไม่สตาร์ต วัดได้ 12.38 โวลต์
ภาพที่ 2 แรงดันไฟฟ้าขณะเครื่องยนต์เดินเบา วัดได้ 13.94
แต่เมื่อเราเปิดให้โหลดทำงานมันจะลดลงบ้างเล็กน้อย ไฟที่สูงขึ้นนี้จะไปชาร์ตเข้าไปในแบตเตอรี่ ดังนั้น หากท่านสตาร์ตรถแล้ววัดไฟได้เท่าเดิมนั่นคือ แสดงให้เห็นว่าไดชาร์จของท่านเสียแล้ว
ขั้นตอนการเปลี่ยน แปลงถ่านไดชาร์จ จะต้องถอดสิ่งกีดขวางการเข้าถึงออกหลายสิ่ง มีดังนี้
1. ถอดกรองอากาศออก ทั้งสายยาง คลิปหนีบ และน็อตจำนวน 4 จุด ดังภาพ
2. ถอดมอเตอร์พัดลมระบายความร้อนคอนเด็นเซอร์ระบบแอร์ โดยถอดน็อต 2 ตัว และซ็อกเก็ตขั้วไฟ ดังภาพ
3. ถอดน็อตแผ่นเหล็กปิดฝาเครื่อง จำนวนน็อต 6 ตัว ดังภาพ
4. ถอดขายึดไดชาร์จด้านที่ปรับสายพานได้ ด้วยการขันน็อตออก 2 ตัว เมื่อออกแล้วให้โยกไดชาร์จเพื่อปลดสายพานออก
5. ถอดขายึดไดชาร์จ น็อตที่ยึดด้านใน และถอดสายไฟออกทุกขั้ว จำขั้วให้ได้ หรือถ่ายรูปเก็บเอาไว้ก็ได้
6. เอาไดชาร์จไปถอดออกเป็นชิ้น ๆ ได้ 2 ส่วน โดยถอดน็อด 3 ตัว ดังภาพ การถอดตัวนี้ต้องใช้ไขควงกระแทกตอกเบา ๆ ก่อนนะครับ จึงจะออก
7. ถอดน็อตด้านท้าย ดังภาพ
8. ใช้ค้อนตอกเบา ๆ เพื่อแยกออกเป็น 2 ชิ้น เมื่อแยกได้แล้ว ถอดน็อตสกรูตัวยึดแปรงถ่านกับน็อตยึดเร็กกูเลเทอร์ออกมา ดังภาพ (อาจต้องใช้ไขควงกระแทก)
9. ค่อย ๆ ถอดชุดแปลงถ่านออก ด้านท้ายจะมีตัวปิดสายไฟยึดแปลงถ่าน ให้เอาออกจะเห็นรอยบัดกรี ให้เอาหัวแร้งบัดกรีสายแปรงถ่านออกมา ไปซื้อที่ร้านขายอะไหล่ยนต์ หรือไฟฟ้าก็ได้ ต้องเอาขนาดไปเปรียบเทียบนะครับ ความยาวของแปรงถ่านควรไม่น้อยกว่า 6 ม.ม. ในกรณีของผมสายไฟแปรงถ่านไปขูดเอาหน้าสัมผัสของโรเตอร์ที่เป็นทองแดงสึกหรอ เพราะแปรงถ่านสั้นมากกว่า 5 ม.ม.
10. หากหน้าสัมผัส (ของคอมมิวเตเตอร์ เป็นศัพท์ของไดนาโมนะครับ ส่วนตัวนี้เขาเรียกว่าอะไรจำไม่ได้แล้ว) สึกหรอมากอาจใช้กระดาษทรายชนิดขัดเหล็กขัดออกมาให้เห็นทองแดงเสมอกัน (ของผมยังมีร่องด้านล่าง)
11. เมื่อบัดกรีแปรงถ่านกลับเข้าเหมือนเดิม จะลำบากในการใส่โรเตอร์กลับเข้าไปเพราะว่า มีแปรงถ่านโผล่อยู่ จึงสังเกตเห็นมีรูอยู่ใกล้ ๆ ก็ได้แนวทาง ต้องกดให้แปรงถ่านเข้าไปข้างในแล้วใช้ลวดสอดมาจากฝาท้ายปิดแปรงถ่านไม่ให้โผล่ เมื่อใส่โรเตอร์ได้แล้ว จึงค่อยดึงลวดออก ดังภาพ
ลวดมองจากด้านใน
ลวดมองจากด้านบน
การประกอบกลับก็ใช้เทคนิคเช่นเดิมนะครับ คือการทำย้อนกลับ ระมัดระวังเรื่องน็อตสกรูเหลือนะครับ ต้องเก็บอะไหล่ น็อตสกรูที่ถอดออกมาให้เรียบร้อยนะครับ
บทสรุป ผลการซ่อมไดชาร์จครั้งนี้ วัดไฟฟ้าได้ตามภาพ 2 ภาพแรกนะครับ สรุปว่าใช้ได้ การซ่อมเปลี่ยนแปรงถ่านไดชาร์จนั้น ช่างทั่วไปเขามักเปลี่ยนลูกใหม่ให้ หรือบางคนอาจจะซื้อของเชียงกงมาเปลี่ยนเพราะทำได้รวดเร็วกว่า แต่เมื่อพิจารณาของการเสียแล้วมีสิ่งที่จะเสียเพียงไม่กี่อย่าง เช่น แปรงถ่าน เร็คกูเลเตอร์ หน้าสัมผัส เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วขดลวดทองแดงจะไม่ค่อยเสีย หรือไหม้เลย และผมยังเชื่อว่า เนื้องทองแดงในอดีตมีคุณภาพสูงกว่าปัจจุบัน ลองพิจารณาดูนะครับ การซ่อมครั้งนี้ใช้แปรงถ่านเพียง 80 บาทเท่านั้น สุดคุ้ม