วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ชาร์จน้ำยาทำความเย็น R-12 แอร์รถยนต์

ในตอนที่แล้ว ได้เขียนถึงการเปลี่ยนอุปกรณ์ของระบบปรับอากาศรถยนต์ Mitsubishi Lancer E-car ปี 1993 โดยเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์ ไดร์เออร์ สายท่อน้ำยา ท่อด้านดูด และด้านอัด แต่ยังค้างไม่ได้เขียนการชาร์จน้ำยาเอาไว้ ในครั้งนี้จึงนำมาเขียนต่อครับ

ขั้นตอนการชาร์จน้ำยาเข้าสู่ระบบมี 2 ขั้นตอนสำคัญ ๆ ได้แก่
1. ขั้นตอนการทำสูญญากาศ หรือการแว็คคั่ม (vacuum)
2. การอัดน้ำยาเข้าสู่ระบบ

ขั้นตอนการแว็คคั่ม เป็นการทำให้ระบบเป็นสูญญากาศ ดูดเอาความชื้น และอากาศออกจากระบบให้หมด

เครื่องมือที่ใช้ 

  1. เครื่องแว็คคั่ม
  2. สายเมนิโฟลเกจ และวาวล์ปิดเปิด
รูปแบบการต่อสายเมนิโฟลเกจ

  • ใช้สายสีเหลืองต่อกับเกจที่ขั้วกลาง ปลายสายต่อกับเครื่องแว็คคั่ม
  • สายสีน้ำเงินปลายสายด้านหนึ่งต้องต่อกับเกจด้าน Low (เกจสีน้ำเงิน) ปลายสายอีกด้านหนึ่งต่อกับ Service valve ด้านดูด (Suction) ซึ่งจะอยู่ใกล้คอมเพรสเซอร์
  • สายสีแดง เป็นสายด้าน Hi pressure ปลายด้านหนึ่งจะต่อกับเกจสีแดง ปลายสายอีกด้านหนึ่งให้ต่อกับ Service valve ด้าน Discharge ดังภาพ



การปิดวาล์วทั้ง 2 เกจ ให้หมุนตามเข็มนาฬิกา
การเปิดวาล์วทั้งสองเกจ ให้หมุนทวนเข็มนาฬิกา

ขั้นตอนการแว็คคั่ม
  1. เปิดวาล์วทั้งด้าน Low และ Hi ให้มากที่สุด
  2. เปิดสวิทช์เครื่องแว็คคั่ม
  3. ให้สังเกตเกจทางด้าน Low (สีน้ำเงิน) เข็มจะหมุนลงมา (ทวนเข็มนาฬิกา) เรื่อย ๆ จนถึง -29.99 ซึ่งต้องรอขั้นต่ำครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง
  4. ปิดวาล์วทั้งสองด้านจนแน่นสนิท
  5. ปิดสวิทช์ดับเครื่องแว็คคั่ม
ขั้นตอนการเติมน้ำมันคอมเพรสเซอร์เข้าสู่ระบบ
  • ในกรณีที่ไม่ได้ใส่น้ำมันคอมเพรสเซอร์เข้าไปในขณะใส่คอมเพรสเซอร์ เราสามารถใส่น้ำมันในตอนนี้ได้ โดยนำน้ำมันหยอดเข้าไปในสายสีเหลือง
  • ให้ถอดสายสีเหลืองจากเครื่องแว็คคั่มออกมา แล้วจุ่มลงไปในขวดน้ำมันคอมเพรสเซอร์
  • ค่อย ๆ หมุนเปิดวาล์วที่เกจสีน้ำเงิน จะห็นว่าน้ำมันจะไหลเข้าสู่สาย (ปริมาณน้ำมันฯ ที่เนมเพลทระบุคือ 210 CC) เสร็จแล้วปิดวาล์วสีน้ำเงินให้สนิท
ขั้นตอนการชาร์จน้ำยาเข้าสู่ระบบ
  1. นำสายสีเหลืองที่เคยต่อกับเครื่องแว็คคั่ม มาต่อกับถังน้ำยา
  2. ค่อย ๆ หมุนวาล์วเปิดน้ำยา จากหัวถัง ไม่ต้องหมุนมาก
  3. การไล่อากาศออกจากท่อสีเหลือง เพื่อไม่ให้ความชื้นเข้าสู่ระบบ โดยการค่อย ๆ หมุนเกลียวปลายสายสีเหลือง (ตรงเส้นกลาง) คลายออกให้อากาศออก สังเกตเสียงและของเหลวไหลออกมา แสดงว่าอากาศถูกไล่ออกจากท่อหมดแล้ว ให้หมุนกลับให้แน่น
  4. เปิดเกจสีน้ำเงินให้น้ำยาค่อย ๆ เข้าไปในระบบ ให้สังเกตเข็มจะสูงขึ้นมากกว่า 40 หรืออยู่ในช่วง 40-60 PSI ให้ปิด
  5. สตาร์ตเครื่องยนต์ เปิดแอร์ ปรับความเย็นมากที่สุด ความเร็วลมมากที่สุด
  6. กลับมาที่เกจ สังเกตเห็นว่าเกจสีน้ำเงินจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่เกจสีแดงจะเพิ่มขึ้น
  7. ในขั้นตอนนี้ ให้ค่อย ๆ เปิดวาล์วเกจสีน้ำเงินให้น้ำยาเข้าไป ให้สังเกตการไหลของน้ำยาที่ช่องหลอดแก้ว เป็นฟอง และสังเกตที่หลอดแก้วที่ไดร์เออร์มีการไหลของฟองอากาศ ค่อย ๆ ผิดกันปิดและเปิด ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการเร่งเครื่องยนต์ ซึ่งเมื่อเร่งเครื่องยนต์เกจสีน้ำเงินด้านความดันต่ำจะลดลงเหลือ 20-30 PSI และความดันด้านสูง จะสูงที่ 150-170 PSI 
  8. จุดความเย็นที่พอดีของปริมาณน้ำยาตามที่ระบุในทฤษฎี คือ ความดันด้านต่ำจะอยู่ที่ 30 PSI และด้านความดันสูงจะอยู่ที่ 145-168 PSI (สำหรับน้ำยา R-12) และ 176-200 PSI (สำหรับน้ำยา 134A) แต่สำหรับแอร์บางยี่ห้อจะเขียนปริมาณเอาไว้ในเนมเพลทที่ติดอยู่ที่รถยนต์นั้นเลย อาจใช้หน่วยวัดเป็นน้ำหนัก จึงจำเป็นต้องใช้ตาชั่ง ชั่งน้ำหนักในการเติม  บางสำนักบอกว่าให้ดูที่หลอดแก้วที่ไดร์เออร์จะต้องไม่มีฟองอากาศ เห็นแต่น้ำยาใส ๆ เคลื่อนที่
  9. เมื่อได้ความเย็นเต็มที่แล้ว ในขั้นตอนการปิดและถอดสาย ให้ทำดังนี้
  • ปิดถังน้ำยาให้สนิท
  • ปิดวาล์วเกจสีน้ำเงิน
  • ถอดสายสีน้ำเงินที่ต่อกับ Service valve ออก
  • ไปปิดสวิทช์แอร์ ดับเครื่องยนต์ รอสักครู่
  • ถอดสายสีแดงที่ต่อกับ Service valve ด้าน Hi ออก
หากเติมน้ำยามากเกินไปจะมีผลอย่างไร
  • จะทำให้เกิดโหลดมากกว่าปกติเมื่อแอร์ทำงานอย่างเห็นได้ชัด เครื่องยนต์อาจเร่งไม่ขึ้นขณะแซง
  • Condenser ตัวระบายความร้อนหน้ารถอาจรั่ว หรือซึมได้ 
  • โอริง อาจจะรั่วหรือซึมได้ง่าย เนื่องจากมีความดันสูง
  • คอยด์เย็นหรืออีแวปเปอเรเตอร์ รั่ว ซึม
  • คอมเพรสเซอร์ร้อนจัด
หากเติมน้ำยาน้อยเกินไปจะมีผลอย่างไร
  • ไดร์เออร์จะมีตัวเซ็นเซอร์น้ำยา หากน้ำยาน้อยมันจะตัดการทำงานชุดคลัชคอมเพรสเซอร์ไม่ให้ทำงาน
  • คอมเพรสเซอร์จะทำงานโดยไม่ตัด เพราะทำความเย็นไม่ถึงที่เราบิดตั้งเอาไว้ ทำให้คอมฯ ร้อนจนตัวเซ็นเซอร์ตัดในที่สุด
  • อุณหภูมิในตัวคาร์ไม่เย็นเท่าที่ควร

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

comment from facebook