วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ซ่อมเปลี่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ อีคาร์ ปี 93

รถยนต์ก่อนปี 1995 จะใช้น้ำยา R-12 เพราะหลังจากนั้น โลกได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน เพราะน้ำยา R-12 มีสาร CFC มีผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อนได้ ดังนั้น น้ำยารุ่นนี้จึงหายากมากในปัจจุบัน เนื่องจากรถที่เก่า ๆ ลดน้อยลง ร้านซ่อมแอร์รถยนต์จึงมักไม่มีน้ำยานี้สำรองเอาไว้ สำหรับใครที่คิดว่าทำไมไม่เปลี่ยนเป็นน้ำยา R-134A ที่ใช้ในปัจจุบันก็อยากจะบอกว่า ท่านจะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทุกชิ้นของระบบทำความเย็น เนื่องจากความดันที่ใช้ไม่เท่ากัน โอริงก็คนละชนิดกัน เมื่อต้องเปลี่ยนทุกชนิดจึงทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมาก

เมื่อรถอีคาร์คู่ใจคอมเพรสเซอร์เสีย จึงเลยถือโอกาสซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ และน้ำยามาซ่อมเองซะเลย น้ำยาที่เหลือเอาไว้สำรองไว้ใช้ได้ตลอดไป และไว้ซ่อมให้เพื่อน ๆ ได้หลายปี

หากท่านอยากซ่อมเอง อุปกรณ์ที่ต้องมีสำหรับงานแอร์รถยนต์ ได้แก่ แมนิโฟลด์เกจ ซัคชั่น (เครื่องทำสูญญากาศ) น้ำยา R-12 น้ำมันคอมเพรสเซอร์ ส่วนที่ชำรุด เสียหายก็ซื้อมาซ่อมเปลี่ยนใหม่ ได้แก่ คอมเพรสเซอร์ (ของเชียงกง) สายท่อกลาง (discharge) ท่อใหญ่ (suction) และ ไดรเออร์ รวมแล้วก็หลายพันบาทอยู่เหมือนกัน แต่เห็นเพื่อนบางคนไปให้ร้านทำให้ โดนค่าใช้จ่ายเข้าไป หนึ่งหมื่นห้าพันบาท เป็นคอมฯ บิวต์ ทำให้คิดว่าค่าแรงที่ต้องจ่ายไป เปลี่ยนเป็นค่าเครื่องมือจะดีกว่า

อาการเสียเบื้องต้น คือ แอร์ไม่เย็น พัดลมเป่าลมร้อนออกมาอย่างเดียว เมื่อดูที่คอมเพรสเซอร์แล้วชุดแม่เหล็กไฟฟ้ายังทำงานดีอยู่ แต่พูลเลย์หมุนเสียศูนย์ คอมฯ มีเสียงดัง จึงวิเคราะห์ว่าคอมเพรสเซอร์ลูกสูบชำรุด

อุปกรณ์ เครื่องมือที่ซื้อ ด้านล่าง ราคาเมื่อ พ.ย.ปี 2556 ดังนี้
  • น้ำยา R-12 ถังละ 1,950 บาท ผลิตในประเทศจีน ดู ๆ แล้วคุณภาพไม่น่าเชื่อถือ (ดูจากการสกรีนข้อความที่ตัวถัง)
  • เครื่องซัคชั่น 1,900 บาท 1/4 แรงม้า ชนิด 1 state
  • แมนิโฟลด์เกจ ราคา 700 บาท
  • น้ำมันคอมเพรสเซอร์ ขวดเล็ก 100 บาท
  • น้ำยาล้างหม้อน้ำ ล้างคอนเด็นเซอร์ ล้างอีแวบเปอเรเตอร์แอร์ 100 บาท
  • คอมเพรสเซอร์ มือสอง เชียงกง 2,300 บาท
  • ท่อกลาง 450 บาท 
  • ท่อใหญ่ 600 บาท
  • ไดรเออร์  200 บาท




ขั้นตอนการถอดอะไหล่เพื่อเข้าถึงคอมเพรสเซอร์

  • ถอดน็อตชุดกรองอากาศ ดังลูกศรชี้


  • ถอดชุดลูกรอกและสายพานขับคอมเพรสเซอร์ โดยถอดคลายน็อตลูกศรล่างสุดก่อน แล้วคลายน็อตลูกศรชี้ลงให้หลวม จะทำให้สายพานหย่อน แล้วถอดสายพานออก 
  • ถอดสายน้ำมันตามลูกศรชี้สีแดงชี้ไปทางซ้ายออกด้วย มันกีดขวางต่อการถอดคอมฯ
  • ถอดขั้วต่อสายไฟคอมฯ ออก (ลูกศรสีเขียว) ด้วยการบีบที่ปลายเพื่อปลดล็อก




  • ต่อไปเป็นการถอดสายยาง ซึ่งเป็นสายน้ำมัน และสายลมตามลูกศรทั้งสีแดงและเขียว ต้องจำให้ดี ถ่ายรูปเอาไว้ดีที่สุด
  • เอาสายแมนิโฟลด์เกจ ด้านซ้าย (สีน้ำเงิน) ต่อเข้ากับท่อบริการด้านดูด แล้วหมุนวาล์วสีน้ำเงินเปิดเบา ๆ เพื่อเอาน้ำยาออก น้ำยาจะออกทางสายสีเหลือง (สายกลาง)





  • ถอดท่อน้ำยาทั้งด้านดูดและอัดออกมาด้วยประแจบล็อค
  • ถอดน็อตยึดคอมเพรสเซอร์จำนวน 3 ตัวออก





  • นำคอมเพรสเซอร์มาถอดเปลี่ยนสายไฟชุด Thermal Protector จากตัวเดิม ใส่แทนตัวที่ซื้อมาใหม่ Thermal Protector จะทำหน้าที่เป็นสวิทช์เมื่อคอมฯ มีความร้อนสูงจะตัดการทำงานของแม่เหล็กไฟฟ้าไม่ให้มีคุณสมบัติเป็นแม่เหล็ก จึงต้องต่อแบบอนุกรมกับคอมฯ





  • นำสายไฟเดิมมาบัดกรีกับคอมตัวใหม่ ถ้าร้านที่ได้มาตรฐานจะใช้คีมบีบตัว connector และมีท่อหดเป็นฉนวนหุ้ม แต่ถ้าไม่มีก็ใช้หัวแร้งบัดกรีก็ได้ แล้วใช้เทปพันสายไฟยี่ห้อ 3M พันให้แน่น




  • ภาพด้านล่างเป็นการแสดงวิธีการถอด ปรับสายพานให้หลวมเพื่อถอดง่าย ๆ





  • ถอดน็อตสกรูอุปกรณ์ไดรเออร์ และสวิทช์ตรวจสอบน้ำยาออก สวิทช์ตัวนี้จะตรวจสอบว่าน้ำยาขาดหรือไม่  ปกติเมื่อเครื่องคอมฯ หมุน น้ำยาจะไหลผ่านเป็นฟองอากาศเห็นได้ที่หลอดแก้ว  สวิทช์ชุดนี้จะต่อแบบอนุกรม การถอดชุดสวิทช์โดยใช้ประแจเลื่อนถอดออกโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา



  • การถอดเปลี่ยนท่อทั้งท่อดูดและอัดทั้งสองก็ใช้ประแจบล็อกคลายออกมา ต้องถอดทั้งสองด้าน

ในขั้นตอนการประกอบคอมเพรสเซอร์กลับ ก็ใช้วิธีทำย้อนกลับจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน ในขณะที่ถอดท่อน้ำยาออกมาแล้วควรใช้อุปกรณ์อุดท่อเข้าและท่อออกไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในท่อได้ 

ก่อนการประกอบคอมเพรสเซอร์กลับจะต้องมีการถ่ายน้ำมันคอมเพรสเซอร์เก่าออกให้หมด เอาทิ้งไปเลยก็ได้ เพราะไม่แน่ใจว่าของเดิมเก็บเอาไว้นานแล้วยัง อาจเสื่อมแล้วก็ได้

การใส่น้ำมันคอมเพรสเซอร์ใหม่กลับเข้าไป ในเนมเพลทเขาแนะนำชนิดเอาไว้ แต่ตอนที่เราซื้อเราต้องระบุว่าใช้กับ R-12 ปริมาณที่เขาระบุสำหรับรุ่นนี้คือ 130 CC (ท่อก็เช่นกันต้องระบุว่าใช้กับ R-12) การซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างต้องเอาตัวอย่างไปด้วยคนขายอาจให้ของไม่ตรงกับที่เราต้องการได้

สำหรับขั้นตอนการทำสูญญากาศ และชาร์จน้ำยาจะได้นำมาเขียนในตอนที่ 2 ต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

comment from facebook