วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปลี่ยนมอเตอร์พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำแลนเซอร์ อีคาร์

พัดลมระบายความร้อนหม้อน้ำรถยนต์ ทำหน้าที่ดูดเอาความร้อนจากหม้อน้ำออกมา และเป่าระบายความร้อนของเครื่องยนต์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ระบบเดิม ๆ มันจะมีตัวเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนจากเครื่องยนต์ เมื่ออุณหภูมิถึงระดับที่กำหนดไว้มันจะทำงานทันที เมื่อเย็นแล้วจึงหยุด บางทีขณะขับรถตอนกลางคืน หรือขณะฝนตก พัดลมนี้อาจทำงานน้อยลง แต่เมื่อได้ไปซ่อมแอร์เปลี่ยนชุดคอนเด็นเซอร์ใหม่ ช่างเขาเปลี่ยนคอนเด็นเซอร์ขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมไปบังหม้อน้ำรถยนต์ ช่างแอร์เขาเลยต่อรีเลย์ควบคุมให้มอเตอร์ระบายความร้อนทำงานทั้งตอนแอร์ทำงานกับเครื่องยนต์ร้อน ดังนั้น พัดลมระบายความร้อนจึงทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้มอเตอร์พัดลมเสื่อมเร็วขึ้น เมื่อปีที่แล้ว (มิ.ย. 2555) พัดลมจึงหมดอายุขัยเกินกว่าจะซ่อมได้ และประจวบเหมาะที่ไปเสียจังหวัดภูเก็ต หมดสิทธิ์ที่จะเลือกแนวทางการซ่อม จึงให้ช่างที่ขายพัดลมเปลี่ยนให้ เป็นของใหม่เขาบอกว่าเป็นของ MITSUBISHI แท้ (เฉพาะกล่อง) ราคา 1,200 บาท โดยประมาณ จึงตกลงให้เปลี่ยนให้

พัดลมดังกล่าวใช้ได้ปีกว่า ๆ ก็เกิดมีเสียงบุชดัง และฝืด เมื่อขณะที่ตัดการทำงาน พัดลมจะหยุดทันที ซึ่งเป็นอาการที่ผิดปกติของมอเตอร์พัดลม ซึ่งปกติมันจะหมุนต่อด้วยแรงเฉี่อยไปอีกระยะหนึ่ง เมื่อตรวจสอบดูปรากฏว่า มอเตอร์ตัวนี้บุชด้อยคุณภาพ ทำให้พัดลมทำงานหนัก เกิดความร้อน เสี่ยงต่อเกิดไฟไหม้ได้ โดยเฉพาะรถที่ติดแกสเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น อย่ารอให้มันเสีย หรือเกิดเหตุร้ายขึ้นก่อน จึงเลยมาหาอะไหล่พัดลมมือสองมาใช้แทนดีกว่า และมีความเชื่อว่าของติดรถ เป็นของแท้ ทน ถึก มากกว่าเกรดอะไหล่

มาถึงขั้นตอนการเปลี่ยนกันเลยดีกว่า

ขั้นตอนการถอดชิ้นส่วนพัดลมและอุปกรณ์ข้างเคียง

1. ถอดน็อตยึดเฟรมพัดลมของหม้อน้ำ 2 ตัว



2. ถอดน็อตยึดท่อยางเข้าหม้อน้ำ และสายยางไปท่อพักน้ำ ดังภาพ ตามลูกศรชี้




3. ถอดน็อตยึดเฟรมพัดลมคอนเด็นเซอร์เครื่องปรับอากาศ จำนวน 2 ตัว 



4. ถอดเฟรมพัดลมแอร์ออกมาก่อน โดยการดึงขึ้นมา ต้องถอดซ็อกเก็ตสายไฟออกก่อน (อยู่ด้านขวามือพัดลม) 
5. ถอดท่อน้ำทั้งสองเส้นออกชั่วคราวก่อน
6. ถอดซ็อกเก็ตขั้วสายไฟของมอเตอร์ระบายน้ำออกมา (อยู่ด้านหลัง-ตอนล่างของพัดลม)



7. ดึงเฟรมพัดลมหม้อน้ำออกมาเลย
8. นำเฟรมพัดลมมาถอดใบพัด และถอดมอเตอร์ออก


9. ใส่ของใหม่ (มือสอง สีดำ) เข้าแทนที่ 



   10. ตัดต่อสายไฟให้ถูกต้อง (ควรระวังขั้วบวก ลบ เพราะมีผลต่อทิศทางการหมุน) หากหมุนกลับทางทำให้การระบายอากาศไม่ได้ผล แล้วพันผ้าเทปให้เรียบร้อย


11. ใส่ทุกอย่างที่ถอดออกมากลับเข้าที่ตามเดิม

ข้อควรระวัง  ในการใส่ท่อยางกลับเข้าไป ควรให้ท่อยางยกขึ้นสูงจากจานจ่ายประมาณ 2-3 นิ้ว เพราะถ้าท่อยางสัมผัสกับจานจ่าย จะทำให้ฝาครอบจานจ่ายที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน จะเปลี่ยนเป็นตัวนำทำให้เครื่องยนต์ดับไม่ทราบสาเหตุได้ ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้วจากช่างของศูนย์บริการที่ไม่มีความรู้

ระยะห่างดังภาพ


ซ่อมปลั๊กพ่วง

ปลั๊กไฟที่เป็นปลั๊กพ่วงราคา 100 - 300 บาทเมื่อชำรุด หลายคนนำไปทิ้ง ซื้อใหม่ดีกว่า แต่ในฐานะบล็อกเกอร์ DIY จึงนำวิกฤติเป็นโอกาสทันที ในวันนี้ขอนำเสนอการซ่อมปลั๊กพ่วง 2 ราง รางแรกชำรุดเนื่องจากหนูมากัดสายไฟขาด รางที่สองสวิทช์เสีย มาดูหลักฐานกันเลย



ขั้นตอนการซ่อม

1. ซื้อสายไฟอ่อน (VFF) ขนาด 2*1.0 sq.mm. และปลั๊กตัวผู้
2. ปอกสายไฟปลายด้านหนึ่งให้ฉนวนออกมาพอประมาณ นำสายไฟสอดในช่องฉนวนพันสายดังภาพ



2. เปิดฝาหลังด้วยไขควงปากแฉกขันสกรูทุกตัวออก
3. ถอดสายไฟเดิมออกโดยการบัดกรีเอาความร้อนไปแตะแล้วดึงออกมา ดังภาพ




4. ปลายสายอีกด้านปอกฉนวนออกมา บัดกรีด้วยการนำหัวแร้งไปแตะที่ปลายสายทองแดงแตะตะกั่วให้หลอมติดเป็นเนื้อเดียวกันทั้งสองเส้น
5. นำปลายสายทั้งสองไปบัดกรีกับแผงปลั๊กพ่วงตำแหน่งเดียวกับตอนถอดของเก่าออก ปิดฝาขันสกรูกลับเหมือนเดิม ผลลัพธ์ที่ได้ตัวที่หนึ่ง



ปลั๊กตัวที่ 2 สวิทช์เสีย แต่จะไม่เปลี่ยนสวิทช์ แต่ใช้วิธีบายพาสคือต่อตรงไปเลย ยกเลิกการใช้สวิทช์ เพราะสวิทช์ขนาดเล็กแบบนี้จะทนกระแสได้น้อย แม้ว่าในสเป็คจะเขียนว่า 5-15 แอมป์ แต่ผมไม่เชื่อว่าจะทนได้ถึง 15 แอมป์

ขั้นตอนการซ่อม มีดังนี้




1. ถอดฝาหลังออกมาเหมือนตัวแรก
2. บัดกรีย้ายปลายสายสีเหลืองที่ขั้วสวิทช์จากขั้วกลางไปยังขั้วบน (ย้ายจากลูกศรเล็กไปยังขั้วบน ลูกศรใหญ่)



3. บัดกรีให้ครบทั้ง 4 สวิทช์เหมือนกับข้อ 2
4. ปิดฝา ขันสกรู แล้วทดสอบการใช้งาน

เป็นอันเสร็จสิ้นการ DIY ในครั้งนี้

ขอแสดงความคิดเห็นในคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลั๊กไฟที่ผลิตในประเทศไทยหน่อย

จากประสบการณ์ และภาพที่เห็นจะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทยห่วย ๆ เหลือเกิน ให้สังเกตโลหะที่เป็นทองแดง เมื่อเปรียบเทียบกับของญี่ปุ่นจะเห็นชัดเจนว่า

ของไทย เมื่อเราเสียบปลั๊กตัวผู้ไปครั้งแรกบางครั้งหลวม บางทีแน่น แต่ครั้งต่อไปหลวมตลอด ทั้งนี้เพราะทองแดงหรือโลหะที่ใช้ไม่มีการวิจัยหาคุณสมบัติการเป็นสปริงเหมือนของญี่ปุ่น

ของไทยเป็นโลหะทองแดงล้วน ๆ ไม่ผสมโลหะใด ๆ ให้มีคุณสมบัติของความเป็นสปริงเลย

ผู้ซื้อไม่สามารถเปิดดูโลหะข้างในได้เลย แม้ว่าจะมีราคาแพงแล้วก็ตาม

ดังนั้นหากผู้ใช้ต้องการคุณภาพสูง ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้ากระแสสูง เช่น เตารีด หม้อหุงเข้า จึงสมควรซื้อยี่ห้อ Panasonic, Clipsal มาประกอบเองดีกว่า

เปลี่ยนถ่ายน้ำระบบหล่อเย็น แก้ปัญหาน้ำลดรถแลนเซอร์ อีคาร์

DIY: Do it yourself ในครั้งนี้ขอนำเสนอ การเปลี่ยนถ่ายน้ำระบบหล่อเย็นด้วยตนเอง

ระบบน้ำหล่อเย็นในรถยนต์ ทำหน้าที่ระบายความร้อนเครื่องยนต์ขณะทำงาน โดยน้ำจะไหลวนเวียนเข้าไปในเครื่องยนต์แล้วนำความร้อนมาระบายออกด้วยพัดลมด้านหน้าของรถ บริเวณด้านหน้าจึงมีพื้นที่ให้รองรับน้ำมากขึ้น จึงได้มีหม้อน้ำ ซึ่งมีครีบอลูมิเนียมช่วยในการระบายอีกทอดหนึ่ง  เมื่อทำให้น้ำเย็นแล้ว ระบบปั๊มจะดูดน้ำเข้าห้องเครื่องยนต์ต่อไป ทำแบบนี้เป็นวัฎจักรไปเรื่อย ๆ จนเราดับเครื่องจึงหยุด

เมื่อจำนวนชั่วโมงการใช้งานมากขึ้น ระบบน้ำมักมีปัญหาอยู่ 2 ประการ คือ ปริมาณน้ำลดลงไปเฉย ๆ กับน้ำมีสนิม ทำให้หม้อน้ำตัน ซึ่งมีผลต่อการเกิดเข็มความร้อนในหน้าปัทสูงขึ้น  เครื่องยนต์ร้อนจนต้องจอดรถริมทาง ตามที่เคยเห็นคนที่ขับรถจอดข้างทาง แล้วเปิดฝากระโปรงมีควันพุ่งขึ้นนั้นแหละ

การเปลี่ยนน้ำในระบบหล่อเย็นด้วยตนเองก็เป็นวิธีป้องกันอย่างหนึ่ง ที่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เครื่องร้อนต้องจอดข้างทางกัน โดยปกติในคู่มือประจำรถมักจะบอกระยะกิโลเมตรเอาไว้ ว่าต้องเปลี่ยนทุก ๆ กี่ กม. แต่สำหรับรถที่มีอายุมากเป็น 10-20 ปี ถ้าทำตามคู่มือ เครื่องยนต์อาจเกิดปัญหาเสียก่อน ดังนั้น เจ้าของรถควรตรวจสภาพความพร้อมก่อนออกเดินทาง หรือตรวจอยู่บ่อย ๆ ได้แก่ น้ำลดลงหรือไม่ กับน้ำสกปรกเป็นสนิมมากหรือไม่

มาดูวิธีการเปลี่ยนกันเลยดีกว่า
คำเตือน ก่อนดำเนินการทั้งหมด เครื่องยนต์ต้องเย็นแล้วเท่านั้น

1. หมุนเปิด ท่อน้ำทิ้ง ซึ่งอยู่ด้านล่างของหม้อน้ำ

ที่อยู่ของเกลียวเปิดน้ำอยู่ ณ ตำแหน่งดังภาพ (มองจากด้านบนบริเวณหม้อน้ำ)



2. ปล่อยน้ำทิ้งออกให้หมด โดยการเปิดฝาด้านบน ผมมีเทคนิคที่ทำให้น้ำในถังพักออกให้หมดไปด้วย โดยการเอาฝ่ามือปิด-เปิด ๆ ฝาบน สักครู่น้ำจะดูดเอาน้ำจากถังพักออกมาด้วย วิธีการนี้คล้ายกับกาลักน้ำนั่นเอง หากน้ำในถังพักยังเป็นสนิมอยู่อีก มันจะไปผสมปนกับน้ำในหม้อน้ำเหมือนเดิม

3. เป็นวิธีการเฉพาะของผมเอง ผมมักจะใช้น้ำล้างภายในหม้อน้ำก่อน 1-2 ครั้ง โดยครั้งแรกให้น้ำไหลผ่าน ลงไปเฉย ๆ ครั้งที่ 2 โดยการปิดท่อน้ำทิ้งด้านล่าง แล้วใส่น้ำเข้าไปพอสมควร จัดการขย่มรถ ให้สนิมในน้ำออก ให้สังเกตสีของน้ำที่ไหลออก หากสะอาดแล้วก็เตรียม เติมน้ำให้เต็ม แล้วผสมน้ำยาคูลแลนต์ อัตราส่วนตามคำแนะนำข้างขวดใส่ลงในถังพัก

สำหรับกรณีน้ำลดลงไปเอง สาเหตุอาจเกิดจากการรั่วของฝาปิดด้านบน หรือด้านล่าง ถ้าเกิดจากการรั่วด้านล่าง อาจเกิดจากซีลยางเสื่อมหรือเกลียวเสื่อม ให้หาซื้อซิลยางที่ทนความร้อนมาใช้แทน หากเกลียวเสื่อมเป็นตามดก็ให้ใช้เทปพันเกลียวท่อประปามาพันชั่วคราวไปก่อนได้ ส่วนฝาบนต้องซื้อใหม่อย่างเดียว ขอให้พิจารณาซื้อที่คุณภาพดี ๆ ทนแรงดันได้สูง มีมาตรฐานสักนิดหนึ่ง

วิธีการพันเกลียวเทปล่อน



บทสรุป
การเปลี่ยนถ่ายน้ำระบายความร้อน เป็นการบำรุงรักษาก่อนที่มันจะเกิดปัญหา หากทำด้วยตนเองจะทำให้เข้าใจการทำงานของรถได้ดียิ่งขึ้น ปัญหาใหญ่ ๆ ก็จะไม่เกิดตามมา ลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญ คือ สิ่งที่เราทำได้ด้วยตนเองมันจะเกิดความภาคภูมิใจ รักรถมากยิ่งขึ้น อาจเป็นงานง่าย ๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้น ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานที่ยากได้  ให้กำลังใจกับผู้ใช้รถทุกคนครับ

comment from facebook