วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

Lancer E-Car ปี 93 สายพานมีเสียงดังเมื่อสตาร์ทตอนเช้า แก้ไขอย่างไร

ชุดสายพานหน้าเครื่อง รถ Lancer E-Car ถ้าเปลี่ยนใหม่ ในวันแรกมักไม่เกิดปัญหาอะไร แต่เมื่อใช้ไปเพียงวันสองวัน จะมีเสียงหวีดเกิดขึ้นตอนสตาร์ท แต่เมื่อเครื่องได้เดินรอบไปสักพักหนึ่งเสียงหวีดจะหายไป นานวันเสียงจะดังมากยิ่งขึ้น ถ้าหากเราไปสตาร์ทในบริเวณที่คนเยอะ ๆ ทุกคนจะมองมาที่รถของเรา ไม่ใช่มองด้วยความน่าสนใจเหมือนรถสปอร์ตหรือรถซูเปอร์คาร์ แต่มองด้วยความทุเรศ สร้างความอับอายให้กับเจ้าของเป็นอย่างมาก

วันนี้มันเกิดขึ้นแล้วกับอีคาร์คู่ใจของผม ในตอนต้นไปหาเพื่อนช่างให้ดูให้ เขาก็จัดการปรับสายพานให้ตึง ๆ ให้   เมื่อสตาร์ทดูเสียงก็หายไป  แต่เมื่อกลับถึงบ้าน เมื่อสตาร์ทใหม่ในตอนเช้าอีกวัน เสียงก็ไม่หาย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าตอนเช็คขันน็อตปรับให้แน่นตอนนั้น เครื่องยนต์ยังร้อนอยู่ จึงไม่เกิดเสียงตอนนั้น

เมื่อลองกลับมาค้นหาสาเหตุในเว็บไซต์ต่าง ๆ มีหลายคนบอกว่าอาจจะเกิดจากพูลเลย์ชำรุดก็ได้ บางคนบอกว่าให้ปรับสายพานให้ตึง จึงลองค้นหาคู่มือซ่อมที่เป็นภาษาอังกฤษสำหรับช่างโดยตรง มาศึกษาดู เห็นว่าการปรับแต่งนั้นไม่ซับซ้อนอะไรมาก สามารถ DIY ได้ จึงทดลองทำดูด้วยตนเอง ให้ตรงกับบล็อกนี้คือ DIY: Do it yourself. แล้วนำมาเขียนในบล็อกให้เพื่อน ๆ ทดลองทำดูด้วยตนเองกันครับ

มาดูภาพประกอบของสายพานหน้าเครื่องทั้ง 3 เส้น

  • สายพานคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ



วิธีการปรับสายพานทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องยกรถให้สูงแต่อย่างใด ดังนั้นทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเองเพียงมีเครื่องมือที่ครบครัน มาเริ่มด้วยการปรับสายพานชุดคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศกันก่อน

  1. เปิดฝากระโปรงค้างไว้ สายพานหน้าเครื่องจะอยู่ด้านซ้ายมือคนขับ
  2. เริ่มใช้ประแจบ็อก ขันน็อตชุดลูกปืนสำหรับมีไว้ปรับสายพานแอร์ (A) ให้หลวมโดยขันทวนเข็มนาฬิกา
  3. ใช้ประแจบ็อกแบบต่อหัว ปรับให้ตึงโดยการหมุนตามเข็มนาฬิกา คอยตรวจสอบความตึงของสายพาน ในกรณีสายพานเก่าความตึงควรกดลงได้ไม่เกิน 7 ม.ม. ถ้าสายใหม่ไม่เกิน 6 ม.ม.
  • เมื่อได้ความตึงตามกำหนดแล้ว ให้ขันน็อต (A) ตามเข็มนาฬิกาให้แน่น ดังภาพ




  • การปรับสายพานชุดน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์




  1.  เนื่องจากตำแหน่งรูสำหรับขันเข้าขันออกนั้นจะต้องตรงกับพูลเลย์ ดังนั้นจึงควรสตาร์ทเครื่อง แชะ ๆ เบาเพื่อให้รูตรงกันทั้งสองรู
  2. เมื่อตรงกันแล้วใช้ประแจบ็อกขันน็อตตัวล่างออกพอหลวม ๆ โดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา
  3. ขันน็อตตัวด้านบนให้หลวมด้วยวิธีเดียวกับข้อ 2
  4. เนื่องจากไม่มีน็อตในการขันปรับความตึง จึงต้องใช้เครื่องมือเป็นเหล็กกลมยาวที่กล่องเครื่องมือที่เขาให้มาพร้อมกับรถ (ซึ่งนำมาใช้ร่วมกับแม่แรง) สอดเข้าไปในช่องเหล็กให้ขัดกับตัวปั๊มน้ำมัน แล้วออกแรงผลักให้ตัวปั๊มดึงสายพานให้มีความตึงมากที่สุด พร้อมกับใช้ประแจบ็อกขันน็อตตัวบนให้แน่นที่สุด
  5. ขันน็อดตัวล่างให้แน่นตาม ให้ความตึงของสายพานตามสเป็ค กำหนดให้ตึงกดลงได้ไม่เกิน 7.5 ม.ม. กรณีสายพานเก่า และ 5.5 ม.ม.กรณีสายพานใหม่

  • การปรับสายพานขับไดนาโมชาร์ตแบตฯ

เนื่องจากการปรับสายพานไดนาโม มีสิ่งกีดขวางมาก จึงต้องถอดอุปกรณ์ข้างเคียงออกเสียก่อน ดังนี้
  1. ถอดพัดลมระบายความร้อนคอนเด็นเซอร์ออก และอย่าลืมถอด connector สายไฟด้วย ด้วยการกดแล้วดึงออกมา และชุดท่อดูดลมเข้าคาร์บิวฯ ออกด้วย
  2. ถอดน็อตที่ยึดแน่นตายตัวของชุดไดนาโม (หมายเลข 1 Lock bolt) ด้วยประแจบ็อกโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา
  3. ใช้ประแจบ็อกขันน็อตตัวปรับสายพานโดยการขันตามเข็มนาฬิกา สังเกตดูความตึงของสายพานจนความตึงกดลงได้ระหว่าง 5.5-7.0 ม.ม. กรณีสายพานใหม่ หากสายพานเก่า ไม่ควรเกิน 8 ม.ม.
  4. เสร็จแล้วให้ขันน็อตตามข้อ 2 ให้แน่น
  5. อย่าเพิ่งใส่ชุดพัดลมระบายความร้อนแอร์เข้าไปก่อน ควรสตาร์ทเครื่องทดสอบฟังการทำงานเครื่องยนต์ก่อน ฟังเสียงสายพานอีกครั้ง
  6. หากไม่มีปัญหา จึงใส่ชุดพัดลม ขันน็อต เสียบสายไฟ 
  7. ตรวจสอบว่าน็อตทุกตัวไม่หลงเหลืออยู่ และขันน็อตแน่นทุกตัว
  8. ใช้สเปรย์รักษาสายพาน ฉีดสายพานให้ชุ่ม จะช่วยยืดอายุการทำงานของสายพานได้ และลดเสียงได้ด้วย ทำให้สายพานไม่แห้ง ซึ่งสายพานแห้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สายพานชำรุดเร็วขึ้น ดูภาพประกอบตามลำดับ

ถอดพัดลมระบายอากาศออก


ปรับความตึงสายพาน



เครื่องมือที่ใช้ในการปรับสายพานครั้งนี้
  1. ประแจบ็อกเบอร์ 10, 12, 13, 14
  2. สเปรย์ฉีดรักษาสายพาน
ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน หากนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์จะดีมาก

2 ความคิดเห็น:

  1. ใช้รถรุ่นเดียวกัน แหล่มเลย
    อธิบายเข้าใจง่ายดี คงเป็นผุ้มีความรู้ในระดับนึงเลย แต่ละหัวข้อ สามารถประหยัดค่าแรงช่างหลายตังเลย ขอบคุณคับ

    ตอบลบ

comment from facebook