วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

เปลี่ยนยางนอก ยางในจักรยานหมอบทัวริ่ง

จักรยาน 2 ล้อ มีหลายชนิดที่นิยมใช้กันในบ้านเรา ได้แก่ จักรยานแม่บ้าน จักรยานเสือภูเขา หรือเมาเท็นไบค์ จักรยานเสือหมอบ หรือโรดไบค์ และจักรยานฟิกซ์เกียร์

การซ่อมโดยทั่ว ๆ ไป จักรยานจะไม่ค่อยสึกหรอ นาน ๆ จึงจะเปลี่ยนอะไหล่สักครั้งหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องซ่อมบ่อย ๆ คือการปะยางใน ที่มักจะโดนเข็มลูกแม็ค เศษแก้ว หรือหนามตำให้รั่วซึม ระหว่างทาง

คนที่ปั่นจักรยานเป็นประจำมักจะเรียนรู้การปะ หรือเปลี่ยนยางด้วยตนเองให้ได้ แต่สำหรับบางคนแล้วมันเป็นสิ่งยากเย็นเสียเหลือเกิน ยอมเดินจูงไปหาร้านไกล ๆ แต่ไม่ยอมศึกษาถึงวิธีการซ่อม

ก่อนเปลี่ยนยางนอก ยางในให้เป็น เรามาทำความรู้จักกับขนาดของยางและล้อของจักรยานกันก่อน เพื่อจะได้บอกคนขายเขาถูก ไม่งั้นเขางงเหมือนกันนะ


  • จักรยานเมาเท็นไบค์ ส่วนใหญ่จะมีวงล้อขนาด 26 นิ้ว ดังนั้น การซื้อยางก็จะต้องบอกขนาดวงล้อ และความกว้างของหน้ายาง จึงต้องบอกว่า 26 นิ้ว หน้ากว้าง 1.5 จะเรียกกันว่า 26 x 1.5 ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กที่เหมาะสำหรับปั่นถนนทางเรียบเน้นความเร็วเท่านั้น ข้อเสียคือมักโดนเศษแก้วเจาะเบา ๆ แล้วจะรั่วได้ง่าย นอกจากนั้นก็จะมีขนาดหน้ายางขนาดใหญ่ขึ้นมาเรื่อย พร้อมกับมีดอกยางใหญ่ขึ้นด้วย เช่น 26x1.75, 26x1.95, 26x2.0, 26x2.2 และ 26x2.5 ซึ่งขนาดใหญ่เหมาะสำหรับปั่นขึ้นภูเขา ลงแทร็ค ล้มยาก แต่มีข้อเสียคือ น้ำหนักมาก
  • จักรยานเสือหมอบ ส่วนใหญ่จะมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ได้แก่ ล้อ 700c ขนาดหน้ากว้างของยางจะเล็กมาก ได้แก่ 20c ดังนั้น จึงเรียกว่า ยาง 700x20c นอกจากนี้จะมีขนาด 700x23c เป็นต้น แต่เสือหมอบญี่ปุ่น อิตาลี่ หรืออังกฤษเก่า ๆ จะมีล้อขนาด 26x1 3/8 หรือ 27, 28 นิ้วก็มี แต่อะไหล่จะยากตามไปด้วย
  • จักรยานแม่บ้านรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะมีขนาด 24 นิ้ว และ 26 นิ้ว แต่ถ้าเป็นเฟสสันรุ่นเก่า หือตราจรเข้ จะใช้ขนาด 26x1 3/8 
จักรยานของผมเป็นจักรยานประเภททัวริ่ง รุ่นเก่า แฮนด์แบบเสือหมอบ ยี่ห้อบริดซ์สโตน รุ่น roadman ไม่รู้มือที่เท่าไร ได้มาจากมาเลเซีย ขนาดพอดีกันเหลือเกินกับร่างกาย จึงชอบใช้คันนี้เป็นประจำทั้งที่น้ำหนักรถมากกว่า 14 กก. แต่เวลาลงเขา ไหลอย่าได้มีใครมาขวางหน้านะ ถ้าต้องเบรคมีเคือง ฮา  

ขนาดของล้อรุ่นนี้ใช้ 26x1 3/8 ตรงกับขนาดของรถเฟสสันหรือจรเข้ ทำให้หาอะไหล่ได้ง่ายราคาถูก หาซื้อที่ร้านขายอะไหลมอเตอร์ไซต์ได้เลย ยางในราคา 50 บาท ยางนอก 100 บาท ถูกมาก ๆ แต่ถ้าหากไปซื้อร้านขายอะไหล่จักรยานโดยตรงได้อีกราคาหนึ่งคือ ยางใน 80 ยางนอก 220 บาท ยิ่ห้อเดียวกันแต่ขายราคาต่างกัน มันยังไงกันเนี่ย พ่อค้า

มาถึงขั้นตอนการซ่อมกันเลยดีกว่า

  • ขั้นตอนการถอดล้อ แนะนำให้แขวนรถโดยการแขวนเบาะนั่งเพื่อให้ยกล้อให้สูงขึ้นจากพื้นทำให้ถอดล้อได้ง่าย ใช้ประแจแหวนเบอร์ 15 มม. ถอดโดยการหมุนทวนเข็มนาฬิกา ทั้งด้านซ้ายและขวา ในภาพเป็นการสาธิตถอดล้อหลังที่มีเกียร์ซึ่งยากกว่าล้อหน้า


  •  นำล้อมาวาง ใช้ตัวงัดยางอันที่หนึ่งสอดด้านโค้งงอเข้าไปในยาง งัดออกมาโดยเอาปลายอีกด้านมาล็อกกับลวดซี่ล้อ ใช้ตัวงัดยางอีกอันหนึ่งสอดกับยางบริเวณใกล้กัน แล้วทำการรูดให้ยางออกมานอกขอบล้อ จนหมดทั้งล้อ ดังภาพ

  • ในกรณีต้องการปะยางก็ให้ถอดยางในออกมาปะ แล้วใส่กลับ แต่ก่อนใส่กลับควรตรวจสอบว่าสาเหตุที่ทำให้ยางรั่วนั้นมันติดอยู่ที่ล้อยางนอกหรือไม่ โดยการเอามือลูบจากด้านในของยาง แต่ในกรณีที่เปลี่ยนทั้งยางในและยางนอก ให้ถอดยางในออกมา แล้วค่อยถอดยางนอกออกมา การถอดยางในก็เริ่มถอดจากจุ๊บยางออกก่อนแล้วค่อย ๆ ดึงออกมาทั้งหมด ยางนอกอาจใช้เท้าทั้งสองขึ้นเหยียบให้ยางออกมาก็ง่ายดี
  • การใส่ยางเส้นใหม่กลับเข้าไป ให้เริ่มจากใส่ยางนอกก่อน โดยใช้ตัวงัดยางใส่ขอบด้านใดด้านหนึ่งเข้าไป ขั้นตอนนี้ไม่ยากอะไร ดังภาพ

  • จากนั้นให้ใส่ยางในเข้าไป โดยเริ่มจากใส่จุ๊บที่สูบลมยางเข้าไปก่อน ใช้ที่สูบลม สูบลมเข้าเล็กน้อยเพื่อให้ใส่ยางได้ง่าย และไม่ให้ยางพับ จัดการจุกยางในเข้าไปวงล้อให้รอบ ดังภาพ

  • ขั้นตอนถัดไป ให้นำขอบยางนอกใส่เข้าไปในวงล้อจนรอบวง แต่ในขั้นตอนนี้จะทำยากนิดหนึ่ง เพราะยางขนาดนี้จะใส่ยากกว่ายางจักรยานเสือภูเขา จึงต้องใช้เท้าเหยียบเมื่อใกล้จะรอบวง ดังภาพ

  • เมื่อยางนอกเข้าในวงล้อรอบแล้ว ต่อจากนั้นให้สูบลมเข้าอีกเล็กน้อย จัดการนำยางมากระแทกกับพื้นเบา ๆ ให้กระแทกกับพื้นโดยหมุนรอบวง ทั้งนี้เพื่อให้ยางในไม่พับโดนขอบล้อทับ ซึ่งมีผลทำให้ยางรั่วซึมได้  เมื่อได้แล้วก็ให้เติมลมจนดึงพอดีกับการขับขี่
  • นำล้อใส่กลับเข้าไปที่เดิม โดยให้พิจารณาการวางตำแหน่งของโซ่และเฟืองเกียร์ให้ถูกต้อง ดังภาพ ถัดจากนั้นเป็นการหมุนน็อตกลับเข้าตามเดิมทั้งสองด้าน หมุนกลับตามเข็มนาฬิกา


ก่อนนำไปใช้ ควรตรวจสอบการขันน็อตทุกตัวว่าแน่นแล้วยัง ตรวจสอบเบรคทั้งหน้าและหลังว่าทำงานปกติหรือไม่

สุดท้ายขอให้ชาวจักรยานปั่นขี่บนท้องถนนปลอดภัยทุก ๆ คน และขอให้ตระหนักว่า เราเป็นผู้น้อยอย่าได้โมโหโกรธาเมื่อเพื่อนร่วมถนนมีพฤติกรรมขับรถมาเบียดบังพื้นที่อันน้อยนิดของเรา หลบได้ก็ขอให้หลบเสีย ให้อภัยซึ่งกันและกัน และเมื่อเราได้โอกาสขับขี่รถยนต์บ้างก็ขอให้เห็นใจคนขี่จักรยาน เหมือนกับที่เราอยากให้เขาเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

comment from facebook