วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ซ่อมเมาส์ ใครเขาจะซ่อมกัน

เมาส์ราคาตัวละ 199 บาท เมื่อเวลาที่มันเสีย จะไม่มีใครเขาซ่อมกัน แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าของเว็บ DIY : Do it yourself  จึงขอทดลองซ่อมให้ดูครับ

สาเหตุที่เมาส์เสีย หรือชำรุด ส่วนใหญ่มักเกิดจากสายไฟภายในตัวเมาส์ขาด หรือติด ๆ ขาด ๆ บริเวณด้านบนเมาส์ หรือที่สายพับงอบ่อยที่สุด จึงวินิจฉัยได้เลยว่า สายขาดใน วิธีการซ่อมเพียงเราตัดสายที่ขาด แล้วนำไปต่อโดยตรงกับตัว connector มันคงจะทำงานได้เป็นปกติ

มาเริ่มการซ่อมกันเลย

  • ใช้ไขควงปากแฉก (Phillips screwdriver) หมุนทวนเข็มนาฬิกา เพื่อเปิดฝ่าเมาส์ออก  บริเวณที่สกรูติดอยู่นั้นมักถูกใบรับประกัน (void sticker) ปิดบังเอาไว้ไม่ให้ใครถอดออกมา ดังภาพ

  • แกะฝาออกมา ซึ่งมีส่วนบนและด้านล่าง โดยใช้คุณสมบัติของพลาสติกในการทำเป็นตัวล็อค การถอดนี้ต้องใช้ทักษะนิดหนึ่ง ถ้ามือใหม่พยายามดึงฝาด้านบนมาข้างหลัง จะเป็นการปลดล็อคออก
  • ตัดสายที่คาดว่าขาดออก แนะนำว่าควรห่างไปจากตัวเมาส์มากกว่า 1 คืบ เพราะยังมีสายอีกยาว ตัดด้วยกรรไกร หรือคัตเทอร์ก็ได้ จากรูปด้านล่างนี้ ยังไม่ได้ตัดสาย 

  • เมื่อตัดสายแล้วให้ดึงถอดขั้ว connector ออกจากแผงวงจร เราจะไม่ใช้การต่อแบบนี้อีกแล้ว แต่จะบัดกรีเข้ากับวงจรโดยตรงด้านหลังแผง ดังภาพ (ที่สั่นเพราะถ่ายกลางคืน)
  • วิธีการดูง่าย ๆ ว่าสายเส้นสีอะไรเป็นเส้นแรก สอง สาม สี่ ห้า ก็ให้ดูที่ connector ที่เราใส่เปรียบเทียบ การบัดกรีก็ต้องใช้เครื่องมือ คือ หัวแร้งที่เสียบไฟให้ร้อน กับเส้นตะกั่วบัดกรี ให้ใช้ปลายหัวแร้งสัมผัสกับสายทองแดงที่ปอกไว้แล้ว จนร้อนเล็กน้อย ค่อย ๆ แหย่ลวดตะกั่วเข้าไปใกล้ ๆ จนสายทองแดงถูกหลอมด้วยตะกั่ว จะทำให้การบัดกรีกับขา connector ติดง่ายยิ่งขึ้น
  • เมื่อบัดกรีหมดทุกเส้นแล้ว ให้นำแผงไปใส่กลับที่ตัวเมาส์ตามเดิม เก็บสาย ปิดฝาขันสกรูให้เหมือนเดิม


เครื่องมือที่ใช้ในงานซ่อมเมาส์ครั้งนี้ ประกอบด้วย
  • หัวแร้ง
  • ไขควงชุด
  • คัดเตอร์
  • กรรไกร
  • ตะกั่วบัดกรี 

ผลการซ่อม เมาส์สามารถใช้งานได้ตามปกติ สามารถประหยัดเงินได้ 199 บาท

ซ่อมถังพลาสติกรั่ว ร้าว แตก

ถังพลาสติกราคาไม่แพง หากจะซื้อใหม่ ก็คงไม่ทำให้เดือดร้อน แต่หากจะต้องคำนึงถึงกว่าจะผลิตออกมาได้ ใช้ทรัพยากรหลาย ๆ อย่าง เช่น เม็ดพลาสติก พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งแรงงาน หรือในกรณีที่นำไปรีไซเคิล ก็ต้องใช้หลายขั้นตอน อย่ากระนั้นเลย เรามาช่วยกันลดโลกร้อน นำมาซ่อมให้ใช้งานได้ดังเดิมกันดีกว่า นอกจากช่วยประหยัดเงินแล้ว ยังรักษาพลังงาน และลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย

มาเริ่มกันเลยดีกว่า การอุดรอยรั่วจากวัสดุประเภทพลาสติก เขาจะใช้การอุดด้วยกาวพลาสติก โดยใช้เพียงปืนยิงกาว และกาวเท่านั้น ดังภาพ



ขั้นตอนการซ่อม
  • นำแท่งกาว ใส่ในตำแหน่งด้านท้ายของปืนยิงกาว  แล้วเสียบปลั๊กไฟปืนยิงกาว รอซักครู่ จนกระทั่งกาวร้อน
  • ทำความสะอาดพื้นผิวตรงรอยแตก รอยรั่ว แล้วเช็ดให้แห้ง
  • นำปืนยิงกาวไปหยอดกาวที่ละลายปิดรอยแตกของถังทั้งด้านนอกและด้านใน จะให้มีคุณภาพดีต้องใช้กาวให้หนาหน่อย จะทำให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น 
  • ให้รอจนกาวเย็น และแห้งสนิท จึงสามารถนำไปใช้ได้


จะซื้อเครื่องมือจากที่ไหน
  • ร้านขายอุปกรณ์ เครื่องมือช่างทั่วไป ราคาไม่แพง
  • กาวแท่งมี 2 ขนาด ขอให้ซื้อขนาดเท่ากันกับปืนยิงกาว
งานครั้งนี้ขอบอกว่า ใคร ๆ ก็ซ่อมได้ ทั้งชายและหญิง ขอแนะนำว่า สำหรับผู้ที่สนใจงาน DIY แต่ยังไม่กล้าทำสิ่งใด ๆ เลย ขอให้ทำงานนี้เป็นงานแรก เพราะจะเป็นการสร้างความมั่นใจว่า เราก็สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้ ให้กำลังใจนะครับ





วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

เปลี่ยนยางใน จักรยานเสือภูเขา

ในครั้งที่แล้วได้เปลี่ยนยางนอก ยางในจักรยานเสือหมอบทัวริ่ง ในครั้งนี้เสือภูเขายางแบนในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ได้ตรวจสอบโดยการเติมลมเข้าไปใหม่ ปรากฏว่าลมที่เข้าไปก็รั่วทันที อย่างนี้แสดงว่าอาจจะรั่วเป็นรูใหญ่ หรือยางแตก หรือไม่ก็รั่วหลายรู จึงตัดสินใจเปลี่ยนยางในเลยดีกว่า

ในขั้นตอนการซื้อยางในอะไหล่ จักรยานประเภทเสือภูเขาจะใช้ยางในขนาด 26x1.75 - 26x2.0 แต่อย่างไรก็ตามให้ดูขนาดของยางนอกประกอบด้วย ยางในต้องไม่ใหญ่กว่ายางนอก สำหรับจักรยานที่ใช้ซ่อมในครั้งนี้ ใช้ยางใน 26x1.95 ยี่ห้อไทย ๆ ราคา 50 บาท ถ้ายางมียี่ห้อผลิตจากต่างประเทศราคาจะ 150 บาทขึ้นไป มีทั้งจุ๊บใหญ่และจุ๊บเล็ก

ขั้นตอนการซ่อม

  • จับจักรยานหงายเอาล้อชี้ฟ้า (กรณีพื้นสะอาด ราบเรียบ) เพื่อให้ง่ายต่อการถอด แต่มืออาชีพเขาจะมีตัวค้ำยกสูง จึงไม่ต้องยกล้อขึ้นบน เพราะอานมักจะราคาแพง หากสกปรกรู้สึกเสียดาย

  • ถอดตัวล็อกล้อ ด้วยการดึงออกมา แล้วหมุนทวนเข็มนาฬิกาทั้งสองด้าน ในกรณีนี้เป็นการถอดล้อหลัง ให้สังเกตการวางโซ่และเกียร์ด้วย ในตอนใส่กลับจะได้ใส่ในตำแหน่งเดียวกัน ดังภาพ

  • ถอดสายเบรคหลังออกจากตัวยึดรั้ง เพื่อให้ถอดล้อหลังออกมาได้ การถอดโดยการบีบเบรคเข้าหากันแล้วใช้นิ้วดึงสายเบรคให้ออกจากตัวล็อก (ตรงลูกศรชี้) ดังภาพ จากนั้นให้ถอดล้อออกมา

  • ใช้เครื่องมืองัดยางตัวแรกสอดเข้าไปในระหว่างวงล้อกับยางนอก แล้วนำปลายไปล็อกกับลวดซี่ล้อ นำเครื่องมืองัดยางอีกอันหนึ่ง สอดไปบริเวณใกล้เคียงกับอันแรกแล้วรูดไปให้ครบรอบวงล้อ เพื่อจะได้นำยางในออกมา ดังภาพ

  • เมื่อขอบยางนอกโผล่ออกมารอบวงล้อแล้ว ให้ถอดจุ๊บออกมาพร้อมกับดึงยางในออกมา ดังภาพ

  • ในขั้นตอนใส่ยางในกลับเข้าไป ให้ตรวจสอบว่ายางนอกมีอะไรตำติดอยู่หรือเปล่าโดยใช้มือลูบไปรอบ ๆ ภายในของยาง หากเจอให้เอาออกเสียก่อนมิฉะนั้นจะทำให้ยางรั่วแล้วรั่วอีก การใส่ยางในเข้าไปก็เพียงเติมลมเข้าไปเล็กน้อยเพื่อให้ใส่ยางในได้สะดวกและขอบยางไม่พับ โดยใช้นิ้วยัดเข้าไปให้รอบ แล้วใส่ขอบยางนอกเข้าไปในวงล้อระมัดระวังอย่าให้ขอบปลิ้นออกมา โดยการใช้เท้าเหยียบขอบให้รอบ เสร็จแล้วเติมลมพอตึง ๆ ยกล้อมากระแทกกับพื้นเบา ๆ ให้รอบวง เพื่อให้ยางกระจายตัวรอบวง และป้องกันยางในพับ

  • ถัดจากนั้นนำล้อไปใส่กลับดังเดิม จัดการใส่เบรคกลับ จัดตำแหน่งโซ่ เกียร์ แล้วเติมลมให้ตึงตามสมควร หมุนล็อกล้อให้แน่นโดยหมุนตามเข็มนาฬิกา จนเกือบแน่นแล้วพับงอตามตำแหน่งเดิม
  • ทดสอบด้วยการปั่นขี่ใกล้ ๆ ทดลองการทำงานของเบรคหน้าหลัง
สุดท้ายขอให้มีความสุขกับการปั่น เราทุกคนมีส่วนช่วยให้โลกลดร้อนได้ จงภาคภูมิใจและให้ปลอดภัย มีความสุขเมื่ออยู่หลังอานทุก ๆ คนครับ

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

เปลี่ยนยางนอก ยางในจักรยานหมอบทัวริ่ง

จักรยาน 2 ล้อ มีหลายชนิดที่นิยมใช้กันในบ้านเรา ได้แก่ จักรยานแม่บ้าน จักรยานเสือภูเขา หรือเมาเท็นไบค์ จักรยานเสือหมอบ หรือโรดไบค์ และจักรยานฟิกซ์เกียร์

การซ่อมโดยทั่ว ๆ ไป จักรยานจะไม่ค่อยสึกหรอ นาน ๆ จึงจะเปลี่ยนอะไหล่สักครั้งหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องซ่อมบ่อย ๆ คือการปะยางใน ที่มักจะโดนเข็มลูกแม็ค เศษแก้ว หรือหนามตำให้รั่วซึม ระหว่างทาง

คนที่ปั่นจักรยานเป็นประจำมักจะเรียนรู้การปะ หรือเปลี่ยนยางด้วยตนเองให้ได้ แต่สำหรับบางคนแล้วมันเป็นสิ่งยากเย็นเสียเหลือเกิน ยอมเดินจูงไปหาร้านไกล ๆ แต่ไม่ยอมศึกษาถึงวิธีการซ่อม

ก่อนเปลี่ยนยางนอก ยางในให้เป็น เรามาทำความรู้จักกับขนาดของยางและล้อของจักรยานกันก่อน เพื่อจะได้บอกคนขายเขาถูก ไม่งั้นเขางงเหมือนกันนะ


  • จักรยานเมาเท็นไบค์ ส่วนใหญ่จะมีวงล้อขนาด 26 นิ้ว ดังนั้น การซื้อยางก็จะต้องบอกขนาดวงล้อ และความกว้างของหน้ายาง จึงต้องบอกว่า 26 นิ้ว หน้ากว้าง 1.5 จะเรียกกันว่า 26 x 1.5 ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กที่เหมาะสำหรับปั่นถนนทางเรียบเน้นความเร็วเท่านั้น ข้อเสียคือมักโดนเศษแก้วเจาะเบา ๆ แล้วจะรั่วได้ง่าย นอกจากนั้นก็จะมีขนาดหน้ายางขนาดใหญ่ขึ้นมาเรื่อย พร้อมกับมีดอกยางใหญ่ขึ้นด้วย เช่น 26x1.75, 26x1.95, 26x2.0, 26x2.2 และ 26x2.5 ซึ่งขนาดใหญ่เหมาะสำหรับปั่นขึ้นภูเขา ลงแทร็ค ล้มยาก แต่มีข้อเสียคือ น้ำหนักมาก
  • จักรยานเสือหมอบ ส่วนใหญ่จะมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ได้แก่ ล้อ 700c ขนาดหน้ากว้างของยางจะเล็กมาก ได้แก่ 20c ดังนั้น จึงเรียกว่า ยาง 700x20c นอกจากนี้จะมีขนาด 700x23c เป็นต้น แต่เสือหมอบญี่ปุ่น อิตาลี่ หรืออังกฤษเก่า ๆ จะมีล้อขนาด 26x1 3/8 หรือ 27, 28 นิ้วก็มี แต่อะไหล่จะยากตามไปด้วย
  • จักรยานแม่บ้านรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะมีขนาด 24 นิ้ว และ 26 นิ้ว แต่ถ้าเป็นเฟสสันรุ่นเก่า หือตราจรเข้ จะใช้ขนาด 26x1 3/8 
จักรยานของผมเป็นจักรยานประเภททัวริ่ง รุ่นเก่า แฮนด์แบบเสือหมอบ ยี่ห้อบริดซ์สโตน รุ่น roadman ไม่รู้มือที่เท่าไร ได้มาจากมาเลเซีย ขนาดพอดีกันเหลือเกินกับร่างกาย จึงชอบใช้คันนี้เป็นประจำทั้งที่น้ำหนักรถมากกว่า 14 กก. แต่เวลาลงเขา ไหลอย่าได้มีใครมาขวางหน้านะ ถ้าต้องเบรคมีเคือง ฮา  

ขนาดของล้อรุ่นนี้ใช้ 26x1 3/8 ตรงกับขนาดของรถเฟสสันหรือจรเข้ ทำให้หาอะไหล่ได้ง่ายราคาถูก หาซื้อที่ร้านขายอะไหลมอเตอร์ไซต์ได้เลย ยางในราคา 50 บาท ยางนอก 100 บาท ถูกมาก ๆ แต่ถ้าหากไปซื้อร้านขายอะไหล่จักรยานโดยตรงได้อีกราคาหนึ่งคือ ยางใน 80 ยางนอก 220 บาท ยิ่ห้อเดียวกันแต่ขายราคาต่างกัน มันยังไงกันเนี่ย พ่อค้า

มาถึงขั้นตอนการซ่อมกันเลยดีกว่า

  • ขั้นตอนการถอดล้อ แนะนำให้แขวนรถโดยการแขวนเบาะนั่งเพื่อให้ยกล้อให้สูงขึ้นจากพื้นทำให้ถอดล้อได้ง่าย ใช้ประแจแหวนเบอร์ 15 มม. ถอดโดยการหมุนทวนเข็มนาฬิกา ทั้งด้านซ้ายและขวา ในภาพเป็นการสาธิตถอดล้อหลังที่มีเกียร์ซึ่งยากกว่าล้อหน้า


  •  นำล้อมาวาง ใช้ตัวงัดยางอันที่หนึ่งสอดด้านโค้งงอเข้าไปในยาง งัดออกมาโดยเอาปลายอีกด้านมาล็อกกับลวดซี่ล้อ ใช้ตัวงัดยางอีกอันหนึ่งสอดกับยางบริเวณใกล้กัน แล้วทำการรูดให้ยางออกมานอกขอบล้อ จนหมดทั้งล้อ ดังภาพ

  • ในกรณีต้องการปะยางก็ให้ถอดยางในออกมาปะ แล้วใส่กลับ แต่ก่อนใส่กลับควรตรวจสอบว่าสาเหตุที่ทำให้ยางรั่วนั้นมันติดอยู่ที่ล้อยางนอกหรือไม่ โดยการเอามือลูบจากด้านในของยาง แต่ในกรณีที่เปลี่ยนทั้งยางในและยางนอก ให้ถอดยางในออกมา แล้วค่อยถอดยางนอกออกมา การถอดยางในก็เริ่มถอดจากจุ๊บยางออกก่อนแล้วค่อย ๆ ดึงออกมาทั้งหมด ยางนอกอาจใช้เท้าทั้งสองขึ้นเหยียบให้ยางออกมาก็ง่ายดี
  • การใส่ยางเส้นใหม่กลับเข้าไป ให้เริ่มจากใส่ยางนอกก่อน โดยใช้ตัวงัดยางใส่ขอบด้านใดด้านหนึ่งเข้าไป ขั้นตอนนี้ไม่ยากอะไร ดังภาพ

  • จากนั้นให้ใส่ยางในเข้าไป โดยเริ่มจากใส่จุ๊บที่สูบลมยางเข้าไปก่อน ใช้ที่สูบลม สูบลมเข้าเล็กน้อยเพื่อให้ใส่ยางได้ง่าย และไม่ให้ยางพับ จัดการจุกยางในเข้าไปวงล้อให้รอบ ดังภาพ

  • ขั้นตอนถัดไป ให้นำขอบยางนอกใส่เข้าไปในวงล้อจนรอบวง แต่ในขั้นตอนนี้จะทำยากนิดหนึ่ง เพราะยางขนาดนี้จะใส่ยากกว่ายางจักรยานเสือภูเขา จึงต้องใช้เท้าเหยียบเมื่อใกล้จะรอบวง ดังภาพ

  • เมื่อยางนอกเข้าในวงล้อรอบแล้ว ต่อจากนั้นให้สูบลมเข้าอีกเล็กน้อย จัดการนำยางมากระแทกกับพื้นเบา ๆ ให้กระแทกกับพื้นโดยหมุนรอบวง ทั้งนี้เพื่อให้ยางในไม่พับโดนขอบล้อทับ ซึ่งมีผลทำให้ยางรั่วซึมได้  เมื่อได้แล้วก็ให้เติมลมจนดึงพอดีกับการขับขี่
  • นำล้อใส่กลับเข้าไปที่เดิม โดยให้พิจารณาการวางตำแหน่งของโซ่และเฟืองเกียร์ให้ถูกต้อง ดังภาพ ถัดจากนั้นเป็นการหมุนน็อตกลับเข้าตามเดิมทั้งสองด้าน หมุนกลับตามเข็มนาฬิกา


ก่อนนำไปใช้ ควรตรวจสอบการขันน็อตทุกตัวว่าแน่นแล้วยัง ตรวจสอบเบรคทั้งหน้าและหลังว่าทำงานปกติหรือไม่

สุดท้ายขอให้ชาวจักรยานปั่นขี่บนท้องถนนปลอดภัยทุก ๆ คน และขอให้ตระหนักว่า เราเป็นผู้น้อยอย่าได้โมโหโกรธาเมื่อเพื่อนร่วมถนนมีพฤติกรรมขับรถมาเบียดบังพื้นที่อันน้อยนิดของเรา หลบได้ก็ขอให้หลบเสีย ให้อภัยซึ่งกันและกัน และเมื่อเราได้โอกาสขับขี่รถยนต์บ้างก็ขอให้เห็นใจคนขี่จักรยาน เหมือนกับที่เราอยากให้เขาเป็น

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

Lancer E-Car ปี 93 สายพานมีเสียงดังเมื่อสตาร์ทตอนเช้า แก้ไขอย่างไร

ชุดสายพานหน้าเครื่อง รถ Lancer E-Car ถ้าเปลี่ยนใหม่ ในวันแรกมักไม่เกิดปัญหาอะไร แต่เมื่อใช้ไปเพียงวันสองวัน จะมีเสียงหวีดเกิดขึ้นตอนสตาร์ท แต่เมื่อเครื่องได้เดินรอบไปสักพักหนึ่งเสียงหวีดจะหายไป นานวันเสียงจะดังมากยิ่งขึ้น ถ้าหากเราไปสตาร์ทในบริเวณที่คนเยอะ ๆ ทุกคนจะมองมาที่รถของเรา ไม่ใช่มองด้วยความน่าสนใจเหมือนรถสปอร์ตหรือรถซูเปอร์คาร์ แต่มองด้วยความทุเรศ สร้างความอับอายให้กับเจ้าของเป็นอย่างมาก

วันนี้มันเกิดขึ้นแล้วกับอีคาร์คู่ใจของผม ในตอนต้นไปหาเพื่อนช่างให้ดูให้ เขาก็จัดการปรับสายพานให้ตึง ๆ ให้   เมื่อสตาร์ทดูเสียงก็หายไป  แต่เมื่อกลับถึงบ้าน เมื่อสตาร์ทใหม่ในตอนเช้าอีกวัน เสียงก็ไม่หาย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าตอนเช็คขันน็อตปรับให้แน่นตอนนั้น เครื่องยนต์ยังร้อนอยู่ จึงไม่เกิดเสียงตอนนั้น

เมื่อลองกลับมาค้นหาสาเหตุในเว็บไซต์ต่าง ๆ มีหลายคนบอกว่าอาจจะเกิดจากพูลเลย์ชำรุดก็ได้ บางคนบอกว่าให้ปรับสายพานให้ตึง จึงลองค้นหาคู่มือซ่อมที่เป็นภาษาอังกฤษสำหรับช่างโดยตรง มาศึกษาดู เห็นว่าการปรับแต่งนั้นไม่ซับซ้อนอะไรมาก สามารถ DIY ได้ จึงทดลองทำดูด้วยตนเอง ให้ตรงกับบล็อกนี้คือ DIY: Do it yourself. แล้วนำมาเขียนในบล็อกให้เพื่อน ๆ ทดลองทำดูด้วยตนเองกันครับ

มาดูภาพประกอบของสายพานหน้าเครื่องทั้ง 3 เส้น

  • สายพานคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ



วิธีการปรับสายพานทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องยกรถให้สูงแต่อย่างใด ดังนั้นทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเองเพียงมีเครื่องมือที่ครบครัน มาเริ่มด้วยการปรับสายพานชุดคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศกันก่อน

  1. เปิดฝากระโปรงค้างไว้ สายพานหน้าเครื่องจะอยู่ด้านซ้ายมือคนขับ
  2. เริ่มใช้ประแจบ็อก ขันน็อตชุดลูกปืนสำหรับมีไว้ปรับสายพานแอร์ (A) ให้หลวมโดยขันทวนเข็มนาฬิกา
  3. ใช้ประแจบ็อกแบบต่อหัว ปรับให้ตึงโดยการหมุนตามเข็มนาฬิกา คอยตรวจสอบความตึงของสายพาน ในกรณีสายพานเก่าความตึงควรกดลงได้ไม่เกิน 7 ม.ม. ถ้าสายใหม่ไม่เกิน 6 ม.ม.
  • เมื่อได้ความตึงตามกำหนดแล้ว ให้ขันน็อต (A) ตามเข็มนาฬิกาให้แน่น ดังภาพ




  • การปรับสายพานชุดน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์




  1.  เนื่องจากตำแหน่งรูสำหรับขันเข้าขันออกนั้นจะต้องตรงกับพูลเลย์ ดังนั้นจึงควรสตาร์ทเครื่อง แชะ ๆ เบาเพื่อให้รูตรงกันทั้งสองรู
  2. เมื่อตรงกันแล้วใช้ประแจบ็อกขันน็อตตัวล่างออกพอหลวม ๆ โดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา
  3. ขันน็อตตัวด้านบนให้หลวมด้วยวิธีเดียวกับข้อ 2
  4. เนื่องจากไม่มีน็อตในการขันปรับความตึง จึงต้องใช้เครื่องมือเป็นเหล็กกลมยาวที่กล่องเครื่องมือที่เขาให้มาพร้อมกับรถ (ซึ่งนำมาใช้ร่วมกับแม่แรง) สอดเข้าไปในช่องเหล็กให้ขัดกับตัวปั๊มน้ำมัน แล้วออกแรงผลักให้ตัวปั๊มดึงสายพานให้มีความตึงมากที่สุด พร้อมกับใช้ประแจบ็อกขันน็อตตัวบนให้แน่นที่สุด
  5. ขันน็อดตัวล่างให้แน่นตาม ให้ความตึงของสายพานตามสเป็ค กำหนดให้ตึงกดลงได้ไม่เกิน 7.5 ม.ม. กรณีสายพานเก่า และ 5.5 ม.ม.กรณีสายพานใหม่

  • การปรับสายพานขับไดนาโมชาร์ตแบตฯ

เนื่องจากการปรับสายพานไดนาโม มีสิ่งกีดขวางมาก จึงต้องถอดอุปกรณ์ข้างเคียงออกเสียก่อน ดังนี้
  1. ถอดพัดลมระบายความร้อนคอนเด็นเซอร์ออก และอย่าลืมถอด connector สายไฟด้วย ด้วยการกดแล้วดึงออกมา และชุดท่อดูดลมเข้าคาร์บิวฯ ออกด้วย
  2. ถอดน็อตที่ยึดแน่นตายตัวของชุดไดนาโม (หมายเลข 1 Lock bolt) ด้วยประแจบ็อกโดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา
  3. ใช้ประแจบ็อกขันน็อตตัวปรับสายพานโดยการขันตามเข็มนาฬิกา สังเกตดูความตึงของสายพานจนความตึงกดลงได้ระหว่าง 5.5-7.0 ม.ม. กรณีสายพานใหม่ หากสายพานเก่า ไม่ควรเกิน 8 ม.ม.
  4. เสร็จแล้วให้ขันน็อตตามข้อ 2 ให้แน่น
  5. อย่าเพิ่งใส่ชุดพัดลมระบายความร้อนแอร์เข้าไปก่อน ควรสตาร์ทเครื่องทดสอบฟังการทำงานเครื่องยนต์ก่อน ฟังเสียงสายพานอีกครั้ง
  6. หากไม่มีปัญหา จึงใส่ชุดพัดลม ขันน็อต เสียบสายไฟ 
  7. ตรวจสอบว่าน็อตทุกตัวไม่หลงเหลืออยู่ และขันน็อตแน่นทุกตัว
  8. ใช้สเปรย์รักษาสายพาน ฉีดสายพานให้ชุ่ม จะช่วยยืดอายุการทำงานของสายพานได้ และลดเสียงได้ด้วย ทำให้สายพานไม่แห้ง ซึ่งสายพานแห้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สายพานชำรุดเร็วขึ้น ดูภาพประกอบตามลำดับ

ถอดพัดลมระบายอากาศออก


ปรับความตึงสายพาน



เครื่องมือที่ใช้ในการปรับสายพานครั้งนี้
  1. ประแจบ็อกเบอร์ 10, 12, 13, 14
  2. สเปรย์ฉีดรักษาสายพาน
ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน หากนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์จะดีมาก

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ซ่อมเปลี่ยนสายท่ออ่อนดิสก์เบรคหน้า Lancer E-Car

Lancer E-Car ปี 1993 ครบรอบ 20 ปีไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ วิ่งได้ระยะทางเกินสามแสนกิโลเมตรแล้ว เกิดสายท่ออ่อนด้านขวาชำรุด น้ำมันเบรครั่ว จนหมด ขณะขับรถบนถนนที่จราจรคับคั่ง ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไร

สาเหตุที่สายอ่อนชำรุด สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจาก 2 สาเหตุด้วยกัน คือ

  1. เสื่อมตามสภาพการใช้งานเพราะตั้งแต่ซื้อมายังไม่เคยเปลี่ยนเลย
  2. เมื่อปีที่แล้วหลังจากเข้าตรวจที่ศูนย์ตรวจสภาพรถ ออกมาก็เคยเสียด้านซ้ายไปแล้วหนหนึ่ง และมาปีนี้หลังจากเข้าตรวจสภาพรถก่อนต่อทะเบียนก็ชำรุดด้านขวาอีก ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าในขั้นตอนการตรวจสภาพฯ เจ้าหน้าที่คงเหยียบเบรคจนมิดแน่นอน เพราะเห็นเขาทดสอบระบบเบรคด้วย (ปกติผมขับรถไม่เคยเบรครุนแรง)
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสายท่ออ่อนเบรคเสื่อมสภาพ
  • อาการแรกที่เห็นได้ง่ายคือ ไฟโชว์ที่รูปเบรคมือ
  • น้ำมันเบรคลดอย่างรวดเร็ว
  • กดแป้นเบรคลงได้ลึก แล้วมันหยุดช้ากว่าเดิม
วิธีประคองรถกลับให้ถึงอู่หรือศูนย์ซ่อมหรือกลับให้ถึงบ้าน
  • ถ้าขณะขับทางไกล ให้รีบจอด แล้วหาอู่ซ่อมรถที่ใกล้ที่สุด หรือโทรหารถลากเข้าอู่
  • ถ้าในเมือง หรือชุมชน ให้จอดรถแล้ว หาซื้อน้ำมันเบรคใส่เพิ่มเข้าไปจนเต็ม แล้วขับประคองด้วยความเร็วช้า ๆ อย่าเข้าใกล้รถคันหน้า ให้ใช้เบรคมือช่วยในการชะลอรถ พร้อมกับเบรคเท้าเมื่อต้องการให้เบรคหยุดทันที 
  • ถ้ารถที่มีน้ำหนักมาก เช่น รถสิบล้อ รถทัวร์ เขาเรียกอาการแบบนี้ว่า เบรคแตกนั่นเอง ต้องใช้วิธีลดเกียร์ให้ต่ำลงเพื่อชะลอได้ระดับหนึ่ง หากลงเนินหรือภูเขาจะอันตรายมาก

มาว่ากันถึงขั้นตอนการซ่อมกันเลยดีกว่าครับ

  • ขันน็อตล้อออกพอหลวม ๆ 
  • ใช้แม่แรงยกตัวรถขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้เหมือนกับการเปลี่ยนล้อสำรองนั้นเอง ดูวิธีการ
  • ใช้สามขาค้ำแทน แม่แรง ควรใช้ 3 ขาทั้งด้านซ้ายและขวาเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน
  • ถอดล้อ ดึงออกมา
  • จะมองเห็นท่ออ่อนเลอะน้ำมัน ให้ใช้ประแจเบอร์ 10 ถอดสายอ่อนออกจากท่อเหล็ก โดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา จนหมดเกลียว ดังภาพ


  • ดึงท่อเหล็กขึ้น ปิดหรืออุดท่อไม่ให้น้ำมันเบรคไหลด้วยถุงพลาสติก หรือวัสดุอื่น ๆ 

  • ใช้ประแจบ๊อกเบอร์ 14 ขันออก  โดยการหมุนทวนเข็ม แต่ประแจบ็อกเราเพียงแต่ปรับทิศทางด้านบนหัว แต่เวลาใช้จริงเราไม่ต้องดึงออกมาหมุนเหมือนประแจตามรูปที่ 1 ระมัดระวังตอนเอาสายท่ออ่อนออกมา เพราะด้านนี้จะมีแหวนประกบทั้งด้านบนและล่าง แหวนทำหน้าที่ป้องกันน้ำมันรั่วซึมออกมา จึงอย่าให้หาย

  • ถอดปริ้นรอง สำหรับล็อกสายให้ยึดกับฐานโครงสร้างรถ โดยการใช้คีมล็อกหนีบแล้วดึงออกมา ทั้งสองปริ้น ดังรูป

  • นำตัวอย่างอะไหล่ ไปซื้อจากร้านอะไหล่ยนต์ทั่วไป หรือถ้าต้องการของแท้ศูนย์บริการมิตซูบิชิใกล้บ้าน แต่ในการซ่อมครั้งนี้ได้เตรียมซื้ออะไหล่มาก่อนถอด จึงได้ของที่ไม่ตรงกับรุ่น ทั้งที่ตอนไปซื้อก็ย้ำกับคนขายไว้ว่า เป็น อีคาร์ปี 93 นะ เขาเห็นที่ซองเขียนว่าอีคาร์ก็ส่งมาให้ เมื่อนำมาใส่จริงปรากฎว่าขนาดของหัวใหญ่กว่าของเดิมไปครึ่งมิลลิเมตร ไม่สามารถใส่ในรูยึดกับปลิ้นได้ ต้องออกไปซื้ออีกร้านหนึ่ง จึงจะเป็นของที่ตรงรุ่น หน้าตาของท่ออ่อนที่ใช้ไม่ได้ มันจะเป็นแบบนี้

  • ขั้นตอนการประกอบกลับก็ให้ทำย้อนกลับไปจากข้อด้านล่างขึ้นไปยังด้านบน
  • ข้อควรระวัง ในเรื่องการไล่อากาศในท่อออก ในกรณีที่น้ำมันเบรคหมดเลยจะมีอากาศอยู่ภายในท่อ ดังนั้น จะต้องเติมน้ำมันเบรคให้เต็มขีด Max ขันน็อตตัวล่างอย่าให้แน่น แล้วเหยียบเบรคย้ำ ๆ ให้น้ำมันไหลออกมาที่น็อต แล้วจึงขันน็อดให้แน่น

วิธีขับรถอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงการเสื่อมสภาพของระบบเบรค
  • อย่าขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด เพราะโอกาสการเบรคอย่างรุนแรงจะน้อยลง
  • อย่าขับรถชิดกับคันหน้ามาก เพราะโอกาสที่จะทำให้เราเบรคกระทันมีมากขึ้น ในขณะที่เราขับระยะห่างเราแทบไม่ต้องใช้เบรค เพียงเรายกเท้าออกจากคันเร่ง รถก็ชะลอได้พอสมควร
  • เมื่อรู้ว่าไฟแดงอยู่ข้างหน้า เราไม่ต้องเหยียบคันเร่ง เพื่อไปใช้เบรคในระยะใกล้กับรถคันหน้า เราต้องเสียทั้งค่าน้ำมัน และเสียค่าเสื่อมของเบรค
  • จากวิธีการขับรถแบบนี้ ทำให้อีคาร์คันนี้ วิ่งมาได้ระยะเกิน 300000 กม. แต่มีการเปลี่ยนผ้าเบรคเพียงครั้งเดียว เมื่อตรวจสอบผ้าเบรคในครั้งนี้ ยังมีระยะผ้าเบรคอีกมาก

comment from facebook