วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ซ่อมพลาสม่าทีวี Power Supply เสีย


ทีวีจอแบน ได้รับความนิยมมากขึ้น ถึงแม้จะแพงแต่ก็ยังขายได้ดี ด้วยคุณสมบัติความคมชัดระดับ HD จึงทำให้ดูหนังจากดีวีดี หรือบลูเรย์ชัดมาก ๆ

ผมคนหนึ่งได้ซื้อมาใช้กับเขาด้วยหนึ่งเครื่อง เป็นยี่ห้อ LG รุ่น 42PQ30R  แต่คุณสมบัติไม่ถึง HD แต่พอดูหนังจากดีวีดี หรือหนังประเภท MKV พอชัดใช้ได้ระดับหนึ่ง

ปัญหาของเรื่องที่จะเขียนคือว่า เครื่องนี้ นอกจากจะใช้น้อยแล้ว พอหมดอายุประกันก็เสียทันที บริษัทรับประกัน 1 ปี การซ่อมทีวีแบบนี้ไม่ค่อยมีร้านที่ไหนเขาซ่อมกัน อาการที่เสียในครั้งแรกคือมีควันขึ้นที่ด้านท้ายของฝาปิด จอมืด จึงรีบปิด ทิ้งไว้เป็นวันจึงเปิดใหม่ ได้ยินเสียงต็อกแต็ก ๆ หลายครั้ง ไฟ LED สีแดงที่สวิทต์ค่อย ๆ ดับไป พอปิดแล้วเปิดอีกก็เป็นแบบเดิม จึงถอดแผง Power Supply ไปขอซื้อที่ศูนย์บริการ LG เขาบอกว่าไม่มีนโยบายขายอะไหล่ให้ช่างทั่วไป เอาละซีเราก็ไม่ใช่ช่างซ่อมทีวี เพียงแต่พอมีความรู้บ้าง ว่าแผงไหนเป็นอะไร ทำหน้าที่อะไร เครื่องที่ใช้อยู่นี้เสียที่แผงไหน เพราะว่ามันเสียเหมือนบอร์ดคอมพิวเตอร์ คือสังเกตจากรอยไหม้ หรือกลิ่นของอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ ปรากฏว่าเสียที่บอร์ดเพาเวอร์ซัพพลาย ถอดเอาไปหาศูนย์ ศูนย์บริการบอกว่าต้องยกมาที่บริษัททั้งเครื่องเลย (โอพระเจ้า เครื่อง 42 นิ้วใส่รถเก๋งไม่ได้) เขาบอกว่ามีบริการไปรับถึงบ้าน จ่ายค่าบริการ 800 บาท เมื่อมาซ่อมแล้วเขาจะเปลี่ยนทั้งบอร์ดเช่นเดียวกับความคิดของผมในตอนแรก ลองค้นหาราคาบอร์ดที่เว็บ www.eclubthai.com ราคาบอร์ดนี้ประมาณ 2,950 บาท บวกค่าส่ง 150 บาท (แพงจัง) ถ้าศูนย์บริการคงคิดค่าบริการเพิ่มอีก รวมแล้วจะเป็นเท่าไร



ในฐานะที่เป็นบล็อกเกอร์ ThaiDIY จึงขอ Do It Yourself มานำเสนอผู้อ่านที่สนใจ และค้นหามาเจอ ในกรณีคีย์เวิร์ดตรงกันพอดี

ถ้าเป็นช่างสมัยก่อนเขาจะหาอุปกรณ์ที่เสียที่บอร์ดแต่ละอุปกรณ์ เช่น ตัวความต้านทาน ทรานซิสเตอร์ หรือไดโอดเสีย ก็ให้เปลี่ยนตัวนั้นไปเลย จึงลองตรวจสอบตัวไดโอด ทรานซิสเตอร์ และคอนเด็นเซอร์ดูก่อน ในขั้นต้น ปรากฏว่าเจอตัวเสีย เป็นไดโอดหมายเลข  D352 เบอร์ SM3200  เป็นไดโอดชนิด  Barrier Schottky  200 Volt 3 Amp (ค้นจากเว็บอาจารย์กู๋)  ได้ไปหาซื้อที่ร้านอิเล็คทรอนิกส์ใหญ่ ๆ ทั่วไป แต่ไม่มีขาย จึงหาเบอร์แทนเป็นชนิดธรรมดา เมื่อนำมาใส่ดูปรากฏว่าดูได้ไม่เกิน 5 นาที ควันขึ้น ไดโอดตัวเดิมอีก และลัดวงจรทันที

จึงเข้าไปถามในเว็บบอร์ดของ www.eclubthai.com เพื่อน ๆ สมาชิกเขาแนะนำให้ใช้ไดโอดความถี่สูงที่ใช้กับทีวีทั่วไป ที่มีคุณสมบัติทนกระแสและทนแรงดันได้ จึงหาเบอร์เทียบเท่าจากอินเทอร์เน็ตได้หลายเบอร์ เช่น เบอร์ RU4M, MUR480 หรือ MUR460 (ให้สังเกตตัวหลังนะครับ 460 หมายถึง ทนกระแสได้ 4 Amp ทนแรงดันได้ 600 Volt  ดังนั้น เมื่อ เบอร์ MUR460 ไม่มี จึงใช้ MUR480 ได้)

เมื่อเอามาเปลี่ยนทดลองใช้ดู ปรากฏว่าใช้ได้ดี ไม่มีปัญหาใด ๆ ไดโอดไม่ร้อน

คาดว่าปัญหาอาการนี้ในเครื่อง LG คงมีมาหลายเครื่องไม่ใช่เฉพาะของผมคนเดียว (ท่านลองเข้าเว็บ www.eclubthai.com ค้นหาคำว่า LG + Power supply ดู) แต่ที่แล้วมาคงเปลี่ยนทั้งบอร์ด จึงเขียนมาแจ้งให้ช่างซ่อมทีวีทดลองแก้ปัญหาเช่นเดียวกับผมลองดูก่อน เพราะอาจเป็นจุดด้อยของการออกแบบของยี่ห้อนี้ก็ได้ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีจุดด้อยในแต่ละรุ่นแต่ละอาการไม่เหมือนกัน เช่น ทีวียี่ห้อ Toshiba รุ่นจอ CRT มักมีปัญหาในส่วนภาพด้านบนยืด นั้นเป็นเพราะคอนเด็นเซอร์ภาคเวอร์เสื่อมเฉพาะตัวนั้นตัวเดียว (คอนเด็นเซอร์สีส้ม) และยี่ห้อเนชั่นแนล พานาโซนิคมักเสียที่การบัดกรีคอยด์ภาคฮอร์ ทำให้เกิดอาการจอมืดมีเสียงจี๊ด ซึ่งช่างทั่ว ๆ ไปเมื่อเจอทั้งสองยี่ห้อนี้ มักตรวจสอบในส่วนนี้ก่อน ยังมีอีกอาการหนึ่งที่ช่างซ่อมทีวีจอ CRT มักเจอบ่อยคือ สีเพี้ยน เพราะแม่สีขาดไป ช่างมักแก้ปัญหาโดยการบัดกรีย้ำไปที่ทรานซิสเตอร์ของแม่สีทั้ง 3 ตัว แต่ปัจจุบันอาจใช้ทรานซิสเตอร์แล้วก็ได้ อาการเหล่านี้ไม่แน่ใจว่ายังมีหรือเปล่า


ผลการซ่อมในครั้งนี้ เสียใช้จ่ายค่าไดโอด 3 ตัว 120 บาท ไหม้ไป 1 ตัว ใช้ไป 1 ตัว มีสำรองอีก 1 ตัว ของใครเสียรุ่นเดียวกัน อาการเดียวกัน รับซ่อมให้ฟรีสำหรับสมาชิก แต่ต้องรอตอนว่าง ๆ ครับ DIY ในครั้งนี้จึงขอแนะนำเฉพาะผู้มีความรู้ทางอิเล็คทรอนิคส์ และไฟฟ้านะครับ เพราะถ้าท่านเปิดฝาท้ายโดยพลการ อาจโดนไฟฟ้าดูดท่านได้ เพราะมีไฟฟ้าสูง 200 Volt แม้ว่าท่านถอดปลั๊กออกแล้วก็ตาม มันอาจมีไฟฟ้าค้างอยู่ในคอนเด็นเซอร์ได้

รูปภาพบอร์ดและตัวไดโอดที่เสียครับ






comment from facebook